อนิสงค์จากเอฟทีเออาเซียน-จีน ส่งออกผักผลไม้ไทยพุ่ง 5 เดือนโกยกว่าพันล้านยูเอส

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยอนิสงค์จากลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีน ดันมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรทั้งผักและผลไม้ไทยไปยังจีนขยายตัวก้าวกระโดด ระบุ 5 เดือนแรกของปี 2562โกยยอดส่งออกกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

         นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สินค้าพืชผักและผลไม้ของไทยถือเป็นหนึ่งในสินค้าสำคัญที่ได้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับจีน (ACFTA) ซึ่งมีผลให้จีนยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าผักและผลไม้ของไทยทุกรายการตั้งแต่ปี 2546 นับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสร้างข้อได้เปรียบและขยายโอกาสทางการค้าให้กับเกษตรกรและผู้ส่งออกสินค้าผักผลไม้ไทยอย่างมาก

       ทั้งนี้ ตั้งแต่ความตกลงดังกล่าวมีผลบังคับใช้ การส่งออกผักและผลไม้ไปจีนของไทยขยายตัวถึงร้อยละ 1,312 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกผักและผลไม้ไปจีนรวม 1,927.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 สินค้าผักและผลไม้ไทยไปตลาดจีนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง มีมูลค่าการส่งออก 1,199.69 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 31

        “เมื่อพิจารณาแยกรายสินค้าพบว่า การส่งออกสินค้าพืชผักของไทย ครองอันดับ 1 ในจีน โดยในปี 2561 การส่งออกสินค้าพืชผักของไทยมีมูลค่า 909.58 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว ถึงร้อยละ 784 เมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญคือมันสำปะหลัง คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 96 รองลงมาคือพืชตระกูลถั่ว เช่น ถั่วแดง ถั่วเขียว และผักแห้ง เช่น เห็ดหูหนู ตามลำดับ” นางอรมน กล่าว

          นอกจากนี้ สินค้าผลไม้ไทย ถือเป็นอีกสินค้าหนึ่งที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการเติบโตสูง โดยในปี 2561 ไทยส่งออกผลไม้ไปจีนมูลค่า 1,017.73 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นอันดับที่ 3 รองจากฮ่องกงและชิลี ซึ่งขยายตัวถึงร้อยละ 2,841 เมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลงฯ และยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 เดือนแรก (มกราคม-พฤษภาคม) ของปี 2562 การส่งออกผลไม้ไทยไปจีนมีมูลค่า 838.61 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 123 โดยทุเรียนเป็นผลไม้ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงสุดถึงร้อยละ 48.54 รองลงมาคือลำไย มังคุด และมะพร้าวอ่อน เป็นต้น

        อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวอีกว่า ตลาดจีน เป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อและจำนวนประชากรสูงถึง 1.4 พันล้านคน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้เปรียบดุลการค้าสินค้าผักและผลไม้กับจีนมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อเทียบกับก่อนที่ความตกลง ACFTA มีผลใช้บังคับพบว่า ไทยได้เปรียบดุลการค้าผักผลไม้กับจีนอยู่เพียง 100.22 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 ไทยได้เปรียบดุลการค้ากับจีนถึง 854.75 ล้านเหรียญสหรัฐ

        “ปัจจุบันประเทศต่างๆ รวมทั้งไทยและจีนให้ความสำคัญกับคุณภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงมีการกำหนดระบบสุ่มตรวจสินค้าผักและผลไม้นำเข้าที่พรมแดนจะต้องผ่านมาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานกระบวนการจัดการคุณภาพเกษตรกรที่ดี (GAP) มาตรฐานการประเมินความเสี่ยงเรื่องแมลงศัตรูพืช/ปริมาณสารเคมีตกค้าง และมาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต (GMP) เป็นต้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียโอกาสในการส่งออกผักผลไม้ของไทยไปจีน จึงขอให้เกษตรกรและผู้ประกอบไทยที่จะส่งออกผักผลไม้ไปจีนให้ความสำคัญกับการผ่านมาตรฐานต่างๆ ข้างต้น รวมทั้งการขึ้นทะเบียนสวน และโรงคัดบรรจุผลไม้ที่จะส่งออกเพื่อตรวจสอบย้อนกลับได้ในกรณีที่พบปัญหา” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว