ถึงเวลาไทยต้องปรับตัว เมื่อทั่วโลกเข้มงวดกับกฎระเบียบ SPS

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. ร่วมเวทีประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เจรจาลดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการ SPS เพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศคู่ค้า ขณะที่รัสเซีย ตอบรับตรวจประเมินขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำไทย ระบุปัจจุบันประเทศต่างๆ มีการออกกฎระเบียบ SPS ที่เข้มงวดมากขึ้น ถึงเวลาที่ไทยไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก จำเป็นต้องปรับตัว

         นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. และผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประจำคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Committee on Sanitary and Phytosanitary measures) ครั้งที่ 75 ระหว่างวันที่ 17 – 19 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ องค์การการค้าโลก นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิสเซอร์แลนด์ โดยมีประเทศสมาชิก 164 ประเทศร่วมประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับกฎระเบียบที่สำคัญและหารือประเด็นข้อกังวลทางการค้าที่เกิดจากการบังคับใช้มาตรการ (SPS) ของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกซึ่งอาจก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าที่มากเกินความจำเป็น

         เนื่องจากปัจจุบันประเทศต่างๆ มีการออกกฎระเบียบ SPS ที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการออกมาตรการควบคุมและจำกัดการใช้สารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งทำให้ไทยในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอันดับต้นๆ ของโลก จำเป็นต้องปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยผู้แทน มกอช.ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมกับประเทศสมาชิกอีกกว่า 20 ประเทศ กล่าวถ้อยแถลงแสดงข้อกังวลต่อการจัดทำกฎระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการจำแนกสารกำจัดศัตรูพืชที่เป็นสารขัดขวางการทำงานของต่อมไร้ท่อ (Endocrine Disruptors) ซึ่งจัดทำขึ้นบนพื้นฐานความเป็นพิษของสาร ที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าผักและผลไม้ไปยังสหภาพยุโรป ประเทศไทย จึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปกำหนดมาตรการที่สอดคล้องกับความตกลง SPS และมาตรฐานสากลโดยพิจารณากำหนดปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุด (Maximum Residue Limits:MRLs) บนพื้นฐานการประเมินความเสี่ยงและนำค่า Codex MRLs ที่มีอยู่มากำหนดใช้เพื่อลดการกีดกันทางการค้าที่มากเกินความจำเป็น

          นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ร่วมกับประเทศสมาชิกอีกกว่า 10 ประเทศ เรียกร้องให้สหภาพยุโรปขยายระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับการปรับตัวต่อการปรับลดค่า MRLs ของสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเดิมสหภาพยุโรปกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนผ่านไว้ที่ 6 เดือน แต่ระยะเวลานี้ไม่เพียงพอต่อการพิจารณาหาสารทดแทนที่มีประสิทธิภาพ และจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังสหภาพยุโรปเช่นกัน โดยผู้แทนไทยยังได้หารือทวิภาคีกับประเทศคู่ค้า เพื่อผลักดันการเปิดตลาดสินค้าเกษตรและแก้ไขปัญหาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าเกษตรของไทย อาทิ ได้หารือทวิภาคีกับออสเตรเลียเพื่อผลักดันการเปิดตลาดเป็ดปรุงสุกของไทย ซึ่งออสเตรเลียได้จัดทำร่างรายงานทบทวนความเสี่ยงสำหรับการนำเข้าเป็ดปรุงสุกจากไทยเสร็จแล้ว และจะแจ้งเวียนองค์การการค้าโลกต่อไป และหารือทวิภาคีกับไต้หวันเพื่อเร่งรัดการเปิดตลาดมังคุดให้แก่ไทยตามที่กรมวิชาการเกษตร ได้มีการดำเนินการทางเทคนิคในเรื่องดังกล่าว โดยไต้หวันได้ประกาศอนุญาตการนำเข้ามังคุดจากไทยแล้วตั้งแต่วันที่ 12 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่า ไทยจะสามารถส่งออกมังคุดไปยังไต้หวันได้มูลค่าไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาทต่อปี

          “ผู้แทนไทย ยังได้เจรจาเร่งรัดให้รัสเซียขึ้นทะเบียนโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำส่งออกของไทยเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ไทยสามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปยังรัสเซียได้เพิ่มขึ้นถึงประมาณปีละ 600 ล้านบาท โดยฝ่ายรัสเซียรับจะหารือรายละเอียดเกี่ยวกับกำหนดการตรวจประเมินโรงงานแปรรูปสัตว์น้ำกับกรมประมงของฝ่ายไทยต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าว