“สุกรรณ์”ชี้มาตรการจำกัดการใช้ 3 สารเคมี เกษตรกรเดือดร้อนทั้งแผ่นดิน

  •  
  •  
  •  
  •  


เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย “สุกรรณ์ สังข์วรรณะ” ทำจดหมายเปิดผนึกถึง “เกษตรทำกิน” ระบุ การที่กรมวิชาการเกษตรทำแนวทางและประกาศใช้มาตรการจำกัดการใช้สารทั้ง 3 ตัว “พาราควอต –ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส” ทำให้เกษตรกรเกิดความเดือดร้อนที่เกิดจากการลดการนำเข้าการจำกัดให้ใช้ได้ในพืช 6 ชนิดคือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพาราปาล์มน้ำมัน ไม้ผล พร้อมแฉเบื้องลึกของกระบวนการต้องการแบนพาราควอตด้วย โดยมีข้องความว่า

        กระผม นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เป็นเกษตรกรอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี ทำเกษตรในพื้นที่ห้าร้อยกว่าไร่ทั้ง ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง พืชผัก ปศุสัตว์ และประมง ประกอบด้วย ข้าว 100 ไร่ , อ้อย 400 ไร่, มันสำปะหลัง 20 ไร่, พืชผัก 5 ไร่ , วัว 70 ตัว, ควาย 12 ตัว, เลี้ยงปลา 10 ไร่ ซึ่งจากการเสนอการแบนสารเคมีด้านการเกษตรทั้ง 3 ตัวคือพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือกลุ่ม NGO ที่จุดประเด็นการยกเลิกการใช้เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และการยกเลิกการใช้ของประเทศต่างๆ 51 ประเทศนั้น

        ตลอดระยะเวลาที่ผมอยู่ในกลุ่มต่อต้านการยกเลิกขอเรียกร้องไม่ให้มีการยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ตัว รวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นจริงของสารเคมีทุกตัวที่ใช้ในภาคการเกษตร โดยได้มีโอกาสเข้าให้ข้อมูลต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายในนามของเลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ทางคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้จำกัดการใช้สารทั้ง 3 ตัว และให้กรมวิชาการไม่ยกร่างแนวทางการจำกัดการใช้โดยมีให้เดือดร้อนต่อเกษตรกร

       แต่ผลออกมาคือกรมวิชาการเกษตรกลับทำแนวทางและประกาศใช้มาตรการออกมา ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่เกษตรกรเป็นอย่างมากไม่ว่าจะลดการนำเข้าการจำกัดให้ใช้ได้ในพืช 6 ชนิดคือ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพาราปาล์มน้ำมัน ไม้ผล แต่ลืมไปว่าคันนาและพืชผักจะทำอย่างไร ยาฆ่าหญ้าและยาฆ่าแมลงมันคนละบริบทการใช้กัน

        จากการอ้างถึงความปลอดภัยและสารตกค้างต่างๆในสาร 3 ตัว ท่านนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลใหม่ เกี่ยวกับสารทั้ง 3 ตัวโดยมี ราชการท่านสุวพันธ์ ตันยุวรรธณะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกเป็นประธาน มีฝ่าย NGO 5 คน ฝ่ายค้านการแบน 5 คน และกรมกองที่เกี่ยวข้อง ในการประชุมครั้งแรกกลุ่ม NGO ไม่เข้าร่วมประชุมแสดงให้เห็นว่า กลุ่มคนพวกนี้ทำงานเป็นกระบวนการไม่สนใจประเทศชาติ และความเป็นจริงในสังคมเกษตรกร ทางฝ่ายคัดค้านการแบนได้ค้นหาข้อมูลการอ้างถึงของกลุ่ม NGO เป็นการบิดเบือนทั้งสิ้น ไม่ว่าการตรวจตัวอย่างพืชผักผลไม้ การตกค้างในดินของพาราควอตที่หนองบัวลำภู โรคเนื้อเน่า ฯลฯ

         คำถามคือ แล้วจะแบนทำไม? ต้องการแบรนด์ยาทั้ง 3 ตัวจริงไหม? คือไม่จริงต้องการแบนพาราควอตแค่ตัวเดียวเพื่อเปิดทางให้กลูโฟซิเนทมาใช้ทดแทน ตามที่แกนนำเอ็นจีโอท่านหนึ่ง พูดในการเสวนาของสมาคมวัชพืชฯ ที่รามาการ์เด้นส์ ประเด็นหลักคือ  พาราควอตหมดลิขสิทธิ์ บริษัทเคมีเกษตรสามารถสร้างแบรนด์ของตนเองขายในตลาดได้ทำให้มีการแข่งขันกันมาก

        ผมขอยืนยันว่า  พาราควอตเป็นยาฆ่าหญ้าที่ตอบโจทย์เกษตรกรมากที่สุดด้วยประสิทธิภาพ ความปลอดภัยต่อคนใช้และสภาพแวดล้อม ไม่เคลื่อนย้ายในต้นพืช ไม่คายซับในดิน เกษตรกรจึงนิยมใช้กันมาถึง 50 กว่าปี ทำให้มีมูลค่ามากถึง 2,400 ล้านบาทต่อปี บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องการมูลค่าเหล่านี้ ดังนั้นจึงต้องยกเลิกการใช้พาราควอตให้ได้ ไม่อย่างนั้นยาของตนเองก็จะขายไม่ได้เงินเป็นจำนวนมาก ส่วนไกลโฟเสท มีเจตนาจำกัดการใช้ไหม? รวมทั้งคลอร์ไพริฟอสด้วย? พูดกันตรงๆเป็นแค่พระอันดับเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาแบนเหมือนพาราควอต เพราะอะไรจึงเสนอการจำกัดการใช้ไกลโฟเซต เพราะถ้าจำกัดการใช้ได้ตามเสนอก็หมายความว่าไกลโฟเสทยังขายได้

       เมื่อครั้งที่ผมเดินทางไปยังประเทศสหรัฐเมริกา ทราบว่า บริษัทไบเออร์เสนอ ซื้อ บริษัทมอนซานโต้ และบริษัทซินเจนทา เพื่อจะควบคุมเรื่องยาเคมีทั้งโลก แต่ซินเจนทาไม่ขายส่วน มอนซานโต้ขายให้ไบเออร์ก็แสดงว่า องค์กรของบริษัทมอนซานโต้เป็นของไบเออร์ นี่แหละสาเหตุของการที่ต้องแบนพาราควอตให้ได้ เพราะการแบนมีหลายทาง อาทิ 1.บริษัทแบรนด์เองไม่ขึ้นทะเบียนเมื่อหมดลิขสิทธิ์แล้วเอายาตัวใหม่ที่อยู่ในลิขสิทธิ์ออกขายแทนนี่ก็เพื่อเงิน,2. แบรนด์โดยการเสนอแบรนด์จากภาคส่วนอื่นถ้าเป็นยาที่เป็นอันตรายจริงก็มีการเสนอแบนจากองค์กรอื่นๆ หรือกระทรวงเกษตรเอง,และ3. จ้างองค์กรออกมาแบนหากยานั้นไม่ใช่ผลิตภัณฑ์ของตัวเอง

         สรุปเงินทั้งนั้นบริษัทที่เห็นแก่เงินต้องการเงินทั้งนั้น ดังนั้น NGO ทั้งหลาย อย่าขายชาติอีกเลยเลิกทำเพื่อเงินเสียที เพราะเกษตรกรเขาใช้ยาเคมีเกษตรเป็น อย่าเห็นประโยชน์ให้กับบริษัทข้ามชาติแล้วทำลายชาติและเกษตรกรของชาติ ที่ทำผลผลิตเพื่อหล่อเลี้ยงคนนอกภาคเกษตร ทำให้ประเทศไทยต้องมีอาหารจึงจะอยู่เป็นสุขได้