สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์ วันที่ 17-21 มิถุนายน 2562
ข้าวโพด : ราคาทรงตัว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์ในสัปดาห์นี้ราคายังทรงตัวอยู่ที่หาบละ 549 บาท เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ทยอยเข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง ยังคงเพียงพอกับความต้องการใช้
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2562 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 443.25 เซนต์/บุชเชล ความคืบหน้าการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในสหรัฐอเมริกาขณะนี้อยู่ที่ 96% ซึ่งใกล้จะเสร็จสิ้นลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยห้าปี และค่าเฉลี่ยของปีที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDA) รายงานสภาพข้าวโพดที่อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good to Excellent) อยู่ที่ 56% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 77% ส่วน 12% อยู่ในเกณฑ์ไม่สมบูรณ์ถึงแย่ (Poor to Very Poor) เทียบกับปีที่ผ่านมาที่ 5% อย่างไรก็ตาม สภาวะอากาศในปีนี้ที่แห้งขึ้นถือว่าเหมาะสมต่อการเพาะปลูก
คาดว่าจะทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สามารถเจริญเติบโตได้ดี ตลาดจึงรอดูตัวเลขพื้นที่เพาะปลูกของ USDA ที่จะประกาศในวันที่ 28 มิถุนายนนี้
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น
ถั่วเหลือง : ราคาทรงตัว
กากถั่วเหลืองที่ได้จากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าในสัปดาห์นี้ ยืนราคาที่กิโลกรัมละ 14.50 บาท โดยปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดต่อเนื่อง สมดุลกับปริมาณคำสั่งซื้อ
ด้านตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 26 มิถุนายน 2562 เมล็ดถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 894.25 เซนต์/บุชเชล และกากถั่วเหลือง รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 313.4 เหรียญสหรัฐฯ/ช็อตตัน โดย USDA รายงานว่า ชาวไร่ในสหรัฐทำการเพาะปลูกถั่วเหลืองไปแล้ว 54% อยู่ในเกณฑ์ดีถึงดีมาก (Good to Excellent) แต่ยังต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ 73% ส่วน 10% อยู่ในเกณฑ์ไม่สมบูรณ์ถึงแย่ (Poor to Very Poor)
ขณะที่ปีที่ผ่านอยู่ที่ 5% สัปดาห์นี้พยากรณ์ว่าอากาศจะดีขึ้น ทำให้สามารถเร่งการเพาะปลูกให้เร็วขึ้นได้จากเดิม แต่ยังช้ากว่าค่าเฉลี่ยห้าปีอยู่ 12% ทางด้านอุปสงค์ มีรายงานยอดสั่งซื้อถั่วเหลืองสหรัฐฯ นำส่งในฤดูกาลปัจจุบัน ปริมาณ 145,000 ตัน แต่ยอดสั่งซื้อสะสมของฤดูกาลปัจจุบันยังคงต่ำอยู่มากเมื่อเทียบกับของฤดูกาลที่ผ่านมา
แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองตลาดต่างประเทศน่าจะทรงตัว
ปลาป่น : ราคาทรงตัว
สัปดาห์นี้มีคำสั่งซื้อทยอยเข้ามาต่อเนื่อง ด้านปริมาณผลผลิตปลาป่นมีเพียงพอ ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยปลาป่นเกรดกุ้ง ราคากิโลกรัมละ 37.00 บาท ปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป กิโลกรัมละ 31.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน กิโลกรัมละ 28.70 บาท
ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคากิโลกรัมละ 28.20 บาท ส่วนปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคากิโลกรัมละ 25.70 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะทรงตัว
ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น
ตลาดซื้อขายข้าวต่างประเทศในสัปดาห์นี้คึกคัก รวมทั้งค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาข้าวเพิ่มขึ้น โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. เพิ่มขึ้นจากตันละ 436 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 442 เหรียญสหรัฐฯ ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี. จากราคาตันละ 381 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 386 เหรียญสหรัฐฯ
ด้านตลาดซื้อขายข้าวในประเทศราคาทรงตัว โดยข้าวขาว 100% ชั้น 2 ที่กระสอบละ 1,220 บาท ส่วนปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ยืนราคาที่กระสอบละ 1,050 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว
สุกร : ราคาทรงตัว
เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคยังคงรักษาระดับราคาสุกรขุนหน้าฟาร์ม ที่กิโลกรัมละ 75 บาท อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้บริโภค ส่งผลให้ราคาประกาศสุกรหน้าฟาร์มจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ยังคงทรงตัวอยู่ที่กิโลกรัมละ 75 บาท
ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ยืนราคาที่ 2,200 บาท (บวก/ลบ 74)
แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว
ไก่เนื้อ : ราคาทรงตัว
ภาวะฝนตกในหลายพิ้นตลอดสัปดาห์ทำให้ผู้บริโภคจับจ่ายน้อยลง อีกทั้งมีอาหารธรรมชาติตามฤดูกาลเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ส่งผลให้การบริโภคเนื้อไก่ไม่คึกคัก อย่างไรก็ตามผลผลิตไก่เนื้อที่ออกสู่ตลาดสมดุลกับการบริโภค ส่งผลให้ราคาประกาศไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา อยู่ที่กิโลกรัมละ 37 บาท
ด้านลูกไก่เนื้อราคาตัวละ 14.50 บาท และลูกไก่ไข่ราคาตัวละ 25 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะทรงตัว
ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว
ในสัปดาห์นี้ปริมาณผลผลิตไข่ไก่ออกสู่ตลาดสมดุลกับการบริโภค ทำให้ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร ตามประกาศของสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ สัปดาห์นี้ยืนราคาที่ฟองละ 2.90 บาท
แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะทรงตัว
ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ CPF