ซีพีเอฟ ตั้งเป้าให้ปี 2565 ซี.พี.เวียดนามคอร์ปอเรชั่น หรือ ซีพี เวียดนาม ใช้วัตถุดิบปลาป่นทั้งหมด ทั้งมาจากผลพลอยได้จากโรงงานแปรรูปปลา หรือการจับปลาจะต้องได้รับการรับรอง IFFO RS) หรือมาตรฐาน IFFO RS Improver Programme (IFFO RS IP) ชี้เป็นมาตรฐานสูงสุดในการผลิตปลาป่นด้วยความรับผิดชอบอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค และลูกค้า ว่าสินค้าของซีพี เวียดนามมาจากการประมงที่ถูกกฎหมาย ปลอดการค้ามนุษย์
น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ปัจจุบัน วัตถุดิบปลาป่นจากโรงงานแปรรูปปลา (By-Product) ที่บริษัทนำมาใช้ได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO RS (International Fishmeal and Fish Oil Organisation Responsible Supply : IFFO RS) ทั้งหมดแล้ว นอกจากนี้ บริษัทยังได้กำหนดเพิ่มเติมว่า วัตถุดิบเหล่านี้จะต้องไม่มาจากปลาที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ตามนิยามในบัญชีแดงของ World Conservation Union พร้อมเสริมว่าปลาป่นมาตรฐาน IFFO RS จากประเทศเวียดนามบางส่วนยังถูกนำมาใช้ในธุรกิจอาหารสัตว์น้ำของบริษัทในประเทศไทยแล้วอีกด้วย
ในส่วนของวัตถุดิบปลาป่นจากการจับปลา (By-catch) ซีพีเอฟ และ ซีพี เวียดนาม ได้ร่วมมือกับ IFFO RS IP ในการพัฒนาหลักเกณฑ์การประเมินการบริหารจัดการประมงให้เหมาะสมกับการทำประมงสำหรับประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นการจับปลาแบบหลากหลายสายพันธุ์และเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำหายากหลายชนิด ให้มีการแยกปลาที่ต้องการและปล่อยปลาที่ไม่ต้องการคืนสู่ทะเล เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมประมงตามแนวทางความยั่งยืน
“ซีพี เวียดนาม ส่งเสริมให้คู่ค้าผู้ผลิตปลาป่นของบริษัทในเวียดนามเข้าร่วมโครงการ IFFO RS Improver Programme (IFFO RS IP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสูงสุดในการผลิตปลาป่นด้วยความรับผิดชอบ อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นก้าวแรกในพัฒนาคู่ค้าไปสู่การรับรองมาตรฐาน IFFO RS ผ่านการอบรมความรู้เกี่ยวกับมาตรฐาน IFFO ตลอดจนส่งต่อโยบายการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติคู่ค้าธุรกิจสู่คู่ค้าในเวียดนาม สร้างภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจด้วยความโปรงใส ปลอดการค้ามนุษย์ และสามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้” น.สพ.สุจินต์ กล่าว
นอกจากการสนับสนุนคู่ค้าให้เข้าสู่การรับรองมาตรฐาน IFFO แล้ว ฟารม์สัตว์น้ำ 5 แห่งของซีพี เวียดนามยังได้รับการรับรองมาตรฐาน ASC Certification ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการบริหารจัดการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืน ระดับสากล และกำลังดำเนินการเพื่อรับรองมาตรฐานในฟาร์มสัตว์น้ำอื่นๆ ทั้งหมด รวมถึงอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัลสำหรับสายธุรกิจสัตว์น้ำ เพื่อช่วยให้การตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอีกด้วย