กรมเจรจาการค้าฯ ยกทัพผู้เชี่ยวชาญลุยศรีสะเกษ เล็งอาศัย FTA ดันสินค้าท้องถิ่นสู่ตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                          อรมน ทรัพย์ทวีธรรม

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ร่วมกับ สภาเกษตรกรแห่งชาติ ยกทัพทีมผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ พบปะ หารือเกษตรกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง พร้อมชี้โอกาสขยายตลาดสินค้าเกษตรไทย เล็งเป้าหมายดันชาหอมแดง ทุเรียน มังคุด พืชสมุนไพร ผ้าไหมเก็บย้อมมะเกลือสู่ตลาดโลก โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ หลังการลงพื้นที่ที่ผ่านมาประสบผลสำเร็จเป็นที่น่าพอใจ

           นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ทางกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ ดำเนินโครงการ “เพิ่มศักยภาพเกษตรกรในยุคการค้าเสรี” ตลอดปี 2562 รวม 6 ครั้ง ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เน้นการพัฒนาสินค้าเกษตรเพื่อสุขภาพและปลอดภัย (Food Health and Safety) เพื่อเพิ่มช่องทางการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปตลาดโลกด้วยความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยจัดทำกับประเทศคู่ค้า ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี รวมถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า โดยได้ลงพื้นที่ไปแล้ว 4 ครั้ง ในจังหวัดอุดรธานี ปราจีนบุรี แม่ฮ่องสอน และสุโขทัย ประสบความสำเร็จได้การตอบรับอย่างดีจากเกษตรกรในทุกพื้นที่

                                                                     เมื่อครั้งลงพื้นที่จ.อุดรธานี

           สำหรับเดือนมิถุนายนนี้ กรมเจรจาการค้าฯ จะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรครั้งที่ 5 รวมถึงจัดการเสวนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ช่องทางรวยของสินค้าเกษตรจากเอฟทีเอ” และ “ทำอย่างไรให้สินค้าเกษตรสู่ตลาดต่างประเทศ” ระหว่างวันที่ 17-19 มิถุนายนนี้ ณ โรงแรมแกลเลอรี่ ดีไซน์ จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือเกษตรกรใน 3 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ยโสธร ซึ่งมีสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพในพื้นที่ เช่น ชาหอมแดง ทุเรียน และมังคุด พืชสมุนไพร ผ้าไหมเก็บย้อมมะเกลือ เป็นต้น

                                                                ภาพนี้จาก : nationtv.tv  

       นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เกษตรกรนำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปมาให้ทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดวิเคราะห์และติวเข้มแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการอีกด้วย ซึ่งกรมเจรจาการค้าฯ มั่นใจว่า ความร่วมมือกับสภาเกษตรกรแห่งชาติในปีนี้ จะช่วยยกระดับสินค้าเกษตรของชุมชนตลอดห่วงโซ่การผลิตให้ได้คุณภาพและมาตรฐานสากล รวมถึงเป็นการขยายช่องทางการจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขันให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

         “ถ้าเราดูข้อมูลมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศคู่เอฟทีเอทั้ง 18 ประเทศ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่ผ่านมา โดยปี 2561 ไทยส่งออกสินค้าเกษตรไปตลาดโลกมูลค่ากว่า 2.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการส่งออกไปประเทศคู่ค้าเอฟทีเอ มูลค่า 1.47 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 64 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรทั้งหมด มีตลาดส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญคือ จีน อาเซียน และญี่ปุ่น สำหรับผลไม้พบว่า ประเทศคู่ค้าเอฟทีเอของไทยส่วนใหญ่ลดภาษีนำเข้าเหลือร้อยละศูนย์แล้ว โดยในปี 2561 ผลไม้ไทยมีมูลค่าส่งออกสูงถึง 88,000 ล้านบาท สินค้าผลไม้หลักคือ ทุเรียน ลำไย มังคุด และมะม่วง โดยตลาดส่งออกสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม และ ฮ่องกง เป็นต้น” อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าว