เปิดกรุ สินทรัพย์ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ฯรวยกว่า1.3 แสนล้านเป็นของคนไทยทั้งนั้น

  •  
  •  
  •  
  •  

เปิดกรุ สินทรัพย์ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย มั่งคั่งกว่า1.3 แสนล้านบาท ปีนี้มีเพิ่มมากกว่าปีก่อนอีกถึง 11,257 ล้านบาท ถือมีทุนดำเนินงานอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ ล้วนแต่เป็นทรัพย์สินของคนไทยเกือบ 100 % อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ แนะผู้นำสหกรณ์ออทรัพย์ จะต้องดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานของการทำบัญชี ให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน และเป็นที่พึ่งสมาชิกที่มีถึง 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไทย

      เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2562 นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการประชุมใหญ่ ประจำปี 2562 ของชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) พร้อมมอบโล่รางวัลแก่ สหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่น สหกรณ์ออมทรัพย์ที่ให้การสนับสนุนธุรกิจการเงินของ ชสอ. ในปีบัญชี 2561 นักสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่น และผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ดีเด่นประจำปี 2561 โดยมีคณะกรรมการดำเนินการ ชสอ. และผู้แทนสหกรณ์สมาชิก เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี


       นายโอภาส กล่าวว่า ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ถือว่าเป็นศูนย์รวมของสหกรณ์ออมทรัพย์ทั้งประเทศ ซึ่งมีสหกรณ์สมาชิกจำนวนมาก 1,093 แห่ง และผลการดำเนินการในปีนี้มีกำไรสุทธิ 1,712 ล้านบาท ถือว่ามีผลประกอบการที่ดี แต่อีกมุมมองหนึ่งที่อยากจะฝากไว้ คือ กระบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์เป็นสถาบันของคนในประเทศที่สำคัญอย่างยิ่ง มีผลต่อสภาวะเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก ปัจจุบันมีทุนดำเนินงานจัดอยู่ในอันดับ 3 ของประเทศ ฉะนั้น การดำเนินงานของ ชสอ. หรือสหกรณ์ออมทรัพย์ต่างๆ จะต้อง เป็นไปด้วยความมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นไปตามมาตรฐานของการทำบัญชี ตลอดจนมาตรฐานการทำธุรกิจที่ควรจะเป็น ซึ่งจะทำให้การดำเนินการมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมทั้งเป็นที่พึ่งสมาชิกที่มีจำนวนมากถึง 12 ล้านคน หรือ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรไทย

          ส่วนการบริหารจัดการเงินล้นระบบของขบวนการสหกรณ์นั้น การจัดการเรื่องการเงินของขบวนการสหกรณ์ ต้องรู้จักคำว่าดุลยภาพ หรือการนำเงินไปแสวงหาผลตอบแทน เช่น การลงทุน หรือปล่อยกู้ ที่นำมาซึ่งผลตอบแทนกลับคืนสู่สมาชิก คณะกรรมการดำเนินการ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบ อย่างน้อยที่สุดต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่สหกรณ์ หรือชุมนุมสหกรณ์จะรับได้มากน้อยแค่ไหน และจะต้องรู้ถึงธุรกิจที่จะไปลงทุนต้องไม่หมิ่นเหม่ หรือขัดกับข้อกฎหมาย และเป็นไปตามความต้องการของสมาชิกตามามควร บางครั้งผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่สูงจนเกินไป แต่มีความมั่นคง ลดความเสี่ยง จึงอยากให้ผู้บริหารสหกรณ์ทุกแห่งคำนึงถึงประเด็นนี้ อย่าไปคิดถึงกำไรสูงสุด แต่ให้คิดถึงกำไรที่มีความมั่นคง ไม่มีความเสี่ยง สมาชิกทั้งหลายมีความสุขร่วมกัน

          “สหกรณ์ ถือมีความสำคัญของประเทศอย่างหนึ่ง เพราะเป็นการประกอบการของคนไทย เกือบ 100 % ฉะนั้น ธุรกิจต่างๆ ที่ดำเนินการโดยสหกรณ์ อาทิ ธุรกิจการเงิน ธุรกิจทางการเกษตร หรือธุรกิจอื่นๆ ที้เกี่ยวกับอาชีพ เมื่อทำและเกิดผลประโยชน์ขึ้นมา มีการหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ จึงอยากให้สมาชิกสหกรณ์ทุกคนทั่วประเทศ คำนึงถึงประเด็นความมั่นคงของชาติ ประกอบกับการดำเนินกิจการ อย่าไปมองความต้องการในผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว เพราะผลตอบแทนเรื่องการเงิน ในสภาวะธรรมชาติผลตอบแทนที่ได้รับ จะไม่มีความสม่ำเสมอในทุกปี ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละปี แต่ถ้าคิดถึงความมั่นคงสมาชิกเป็นหลัก จะทำให้ฐานะทางการเงินของสหกรณ์ออมทรัพย์ทุกแห่ง มีความมั่นคงถาวรต่อไปได้ นอกจากนั้นสมาชิกสหกรณ์ทั้งหลาย ต้องเข้าใจสภาวะเป็นอยู่ปัจจุบัน ต้องปรับตัวชีวิตของตนเอง ให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน หรือการลงทุนต่งๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีความรู้ ควรปรึกษาผู้มีความรู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตนเองด้วย”อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าว

         ด้าน รศ.ย์พิเศษ พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการ ชสอ. กล่าวว่า การบริหารงานในรอบปีบัญชีที่ผ่านมา ชสอ. มีสหกรณ์สมาชิก 1,093 สหกรณ์ มีสินทรัพย์รวม 133,289 ล้านบาท เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนถึง 11,257 ล้านบาท บริหารสินทรัพย์ให้เกิดกำไรสุทธิ 1,713 ล้านบาท สามารถจ่ายเงินปันผลได้ในอัตรา 5.30% และเงินเฉลี่ยคืนในอัตรา 4.00% ซึ่ง ชสอ. ได้จัดทำระบบธรรมาภิบาลในการบริหารงานตามแนวทางของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งผลการประเมินอยู่ในระดับดีเลิศ ส่งผลให้ ชสอ. สามารถรักษาระดับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กร จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ A- แนวโน้มอันดับเครดิต : คงที่ (Stable) ซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งทางการเงินและการบริหารของ ชสอ. ได้อย่างชัดเจน

         นอกจากนี้ ชสอ. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐจัดทำหลักสูตรการเงิน การบัญชี และการบริหารสำหรับกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนาสหกรณ์แห่งชาติ โดยกำหนดให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ว่าเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นคณะกรรมการดำเนินงานสหกรณ์ และร่วมกับขบวนการสหกรณ์ไทย จัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปการบริหารจัดการและกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์และ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน นำไปหารือร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์

          ทั้งนี้เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาให้กับสหกรณ์ที่ได้รับผลกระทบ ผลักดันการแก้ไขกฎหมายสหกรณ์ และจัดเวทีระดมความคิดเห็นของขบวนการสหกรณ์ต่อร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 ตลอดจนการส่งเสริมและเผยแพร่ผลงานนวัตกรรมการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ จัดตั้งสถาบันพัฒนาบุคลากรและความมั่นคงสหกรณ์ออมทรัพย์ ศูนย์การเรียนรู้สหกรณ์ออมทรัพย์ ศูนย์พัฒนาภาษาต่างประเทศ ศูนย์ช่วยเหลือสหกรณ์สมาชิกด้านกฎหมาย ศูนย์มาตรฐานการบริหารจัดการสหกรณ์ ศูนย์นวัตกรรมสหกรณ์ออมทรัพย์ และพิพิธภัณฑ์สหกรณ์ จัดทำแนวทางธรรมมาภิบาลเพื่อส่งเสริมให้ ชสอ. มีระบบธรรมมาภิบาล ทั้งในส่วนของคณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และฝ่ายจัดการ รวมทั้งได้รวมพลังเครือข่ายเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก 8 ภูมิภาค และสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศ ร่วมรณรงค์ “ฅนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง” และพัฒนา ชสอ. สู่การเป็นศูนย์กลางสารสนเทศของสหกรณ์

           “ชสอ. มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากรของสหกรณ์ออมทรัพย์ ให้มีความรู้ความสามารถ ส่งเสริมให้ ระบบธรรมมาภิบาล ทั้งในส่วนของคณะกรรมการดำเนินการ ผู้ตรวจสอบกิจการ และฝ่ายจัดการ พัฒนาตามเกณฑ์คุณภาพบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ พัฒนา ชสอ. ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นที่พึ่งให้แก่สหกรณ์ ตามเจตนา และความมุ่งมั่น ในการเป็นต้นแบบองค์กร “สีขาว สะอาด โปร่งใส” ของขบวนการสหกรณ์ ที่มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตสมาชิกสหกรณ์ ให้มีความ “มั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน”
ในภาพอาจจะมี 12 คน, คนที่ยิ้ม, ผู้คนกำลังยืน” รศ.ย์พิเศษ พลโท ดร.วีระ กล่าว