ซีพีเอฟ ประกาศยกเลิกใช้ถ่านหินแน่นอนปี 2565 ร่วมรักษาสิ่งแวดล้อมยั่งยืน  

  •  
  •  
  •  
  •  

 ซีพีเอฟ เดินหน้าบรรเทาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดห่วงโซ่การผลิต ตอกย้ำความมุ่งมั่นร่วมลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนึ่งในสาเหตุของภาวะโลกร้อนและมลพิษทางอากาศ   พร้อมสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ   ประกาศเตรียมเปิดตัว โครงการ “CPF Coal Free 2022” ยกเลิกใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงในประเทศไทยในปี 2565 ก่อนขยายไปยังกิจการต่างประเทศ     
   
        นายสุขสันต์  เจียมใจสว่างฤกษ์  ประธานคณะผู้บริหาร  ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและกรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม)บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ  ซีพีเอฟ  เปิดเผยว่า  บริษัทฯดำเนินธุรกิจโดยตระหนักถึงความสำคัญของการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติครอบคลุมตลอดห่วงโซ่การผลิต  รวมทั้งพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านพลังงาน   น้ำ  ของเสีย   และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก   โดยมุ่งมั่นเป็นบริษัผลิตอาหารที่มีส่วนร่วมรักษาดุลยภาพของสิ่งแวดล้อมโลก และสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development  Goals : SDGs)

                                                                 สุขสันต์  เจียมใจสว่างฤกษ์
       นอกจากนี้  เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการมีส่วนร่วมบรรเทาผลกระทบจากปัญหาโลกร้อน   และสนับสนุนเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน     ซีพีเอฟเตรียมเปิดตัว โครงการ “CPF Coal Free 2022”  มีเป้าหมายยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงสำหรับกิจการในประเทศไทย ในปี 2565  และขยายไปยังกิจการในต่างประเทศ   โดยจะนำชีวมวลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหมุนเวียนมาใช้ทดแทนถ่านหินในการผลิตไอน้ำ  ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 70,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี      

        ทั้งนี้   ซีพีเอฟได้ประกาศเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมยั่งยืน  ภายในปี 2563- 2568  โดยมีเป้าหมายลดปริมาณการใช้พลังงานต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 15   ลดปริมาณการดึงน้ำมาใช้ต่อหน่วยการผลิต  ร้อยละ 30  ลดปริมาณของเสียที่กำจัดโดยการฝังกลบและเผาต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 35    และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยการผลิต ร้อยละ 25  ดำเนินการผ่านโครงการต่างๆ อาทิ  โครงการซีพีเอฟโซลาร์รูฟท็อป (CPF Solar Rooftop)  ซึ่งเป็นโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคาโรงงาน 34 แห่ง  มีแผนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2562  คาดว่าจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้  28,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี       
 
       
        ขณะเดียวกัน  บริษัทฯเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนจากร้อยละ  21 ของสัดส่วนการใช้พลังงานทั้งหมดในปี  2560 เป็นร้อยละ  25  ในปี  2561  และดำเนินโครงการด้านการจัดการพลังงาน อาทิ   โครงการนำก๊าซชีวภาพมาผลิตไฟฟ้า  โดยเมื่อปี 2561 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 322,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์   โครงการนวัตกรรมอาหารสุกรรักษ์สิ่งแวดล้อม  ซึ่งดำเนินการในประเทศไทยและขยายผลไปยังธุรกิจผลิตอาหารสุกรในอีก 7 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน และรัสเซีย สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 41,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์  เป็นต้น


        นอกจากนี้บริษัทฯยังให้ความสำคัญกับการลดปริมาณขยะพลาสติก  โดยพัฒนาการออกแบบและจัดการบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนบนพื้นฐานแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อใช้ทรัพยากรในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  ลดปัญหาขยะจากบรรจุภัณฑ์ ส่งเสริมการใช้วัสดุที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม  ซึ่งซีพีเอฟมีเป้าหมายระยะยาวด้านบรรจุภัณฑ์พลาสติกในประเทศไทยต้องนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reusable) นำมาใช้ใหม่ (Recyclable)   นำไปผลิตเป็นสินค้าใหม่ได้ (Upcyclable) หรือ สามารถย่อยสลายได้ (Compostable) 100% ในปี 2568 สำหรับกิจการในประเทศ ส่วนกิจการในต่างประเทศจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2573

“ซีพีเอฟได้จัดหาบรรจุภัณฑ์ที่มีการนำวัสดุรีไซเคิลมาใช้ในบรรจุภัณฑ์ที่ไม่มีการสัมผัสกับอาหารโดยตรงหรือใช้สำหรับการขนส่ง เช่น กล่องกระดาษลูกฟูก ซึ่งใช้วัสดุรีไซเคิลในการผลิตตั้งแต่ 70-100%  ขณะที่สินค้ากลุ่มหมูสดและไก่สดแช่เย็นบรรจุในถาดพลาสติกชีวภาพ (Bioplastic) ทำจากวัสดุธรรมชาติที่ย่อยสลายได้ (Polylactic Acid : PLA) นับเป็นรายแรกของประเทศไทย โดยในปี 2561 สามารถลดการใช้ถาด PET ได้กว่า 3.9 ล้านชิ้น หรือกว่า  60 ตัน เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 132 ตันคาร์บอนไดออกไซด์” นายสุขสันต์ กล่าว  
 
         ในด้านของกิจกรรมเพื่อสังคม  ซีพีเอฟสนับสนุนพนักงานร่วมเป็นเครือข่ายจิตอาสาอนุรักษ์และร่วมฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติทั้งภายในและรอบรั้วโรงงานและฟาร์ม โดยในปี 2561  ร่วมกับภาครัฐ  ภาคประชาสังคม และชุมชน    อนุรักษ์  ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ ทั้งพื้นที่ป่าชายเลนและป่าต้นน้ำ   รวมถึงเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการครอบคลุมพื้นที่ 10,079 ไร่    อาทิ   การดำเนินโครงการ ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง  ซึ่งซีพีเอฟ จับมือกรมป่าไม้   องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  (อบก.) และชุมชน ดำเนินการปลูกป่าในพื้นที่เขาพระยาเดินธง  ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี 5,971  ไร่  ช่วยกักเก็บคาร์บอนได้ 38,108 ตันคาร์บอนไดออกไซด์    

องค์การสหประชาชาติ ประกาศให้วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) เป็นอีกวันหนึ่งที่กระตุ้นเตือนให้ประชากรทั่วโลกเห็นคุณค่าของสิ่งแวดล้อม  ร่วมมือทำกิจกรรมเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ  โดยปี 2562  โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations  Environment   Programme  หรือ  UNEP )รณรงค์ภายใต้ คำขวัญ  Beat  Air Pollution  หรือ หยุดหมอกควันและอากาศพิษ   ซึ่งซีพีเอฟในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร  ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้กลยุทธ์  3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน “อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน ดินน้ำป่าคงอยู่” เพื่อนำไปสู่การเป็น “ครัวของโลก”ที่ยั่งยืนตลอดไป