กรมสวัสดิการฯ จับกับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วสฯ ลงนามเอ็มโอยู ภายใต้ “โครงการความร่วมมือพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย” เพื่อสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการในห่วงโซ่อุปทานบริหารจัดการแรงงานด้วยความรับผิดชอบและถูกต้องตามกฎหมาย หวังให้คู่ค้าธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างถูกต้อง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานอย่างยั่งยืน เป้าหมายครอบคลุมคู่ค้าธุรกิจถึง 300 ราย ใน 50 จังหวัดทั่วประเทศ
นายวิวัฒน์ ตังหงส์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding : MoU) กับ บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบให้กับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ภายใต้ “โครงการความร่วมมือพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย” โดยโครงการดังกล่าว กรมฯจะเป็นผู้จัดการฝึกอบรมและสัมมนาเชิงปฏิบัติการแก่คู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานของซีพีเอฟ เพื่อให้คู่ค้าธุรกิจมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานอย่างถูกต้อง ตั้งแต่กระบวนการสรรหาว่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ของแรงงาน ขจัดปัญหาแรงงานเด็ก การต่อต้านการบังคับใช้แรงงานรวมถึงการค้ามนุษย์ การส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสถานประกอบการ ตลอดจนการสนับสนุนให้สถานประกอบการมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย สอดคล้องกับระบบมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.)
“รัฐบาลมีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาแรงงานไทยอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสอดคล้องกับกฎหมายและข้อกําหนดมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งมุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและเสริมสร้างธุรกิจให้มีการพัฒนาที่ยั่งยืน เน้นการจัดการแรงงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สถานประกอบกิจการมีการปฏิบัติต่อแรงงานตามมาตรฐาน มรท. ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคม และการแข่งขันในเวทีโลกของประเทศอย่างยั่งยืน” นายวิวัฒน์ กล่าว
ด้านนายไพศาล เครือวงศ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส กล่าวว่า โครงการความร่วมมือพัฒนาคู่ค้าสู่ระบบมาตรฐานแรงงานไทย จะช่วยสนับสนุนและการพัฒนาร่วมกับคู่ค้าเพื่อสร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทานให้เชื่อมโยงกันตามมาตรฐานสากล สร้างความสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการแรงงานถูกต้องตามกฎหมายตามระบบมาตรฐาน มรท. โดยมีเป้าหมายในการดำเนินโครงการ 3 ปี (2562-2564) ครอบคลุมคู่ค้าธุรกิจของบริษัทฯ 300 ราย ใน 50 จังหวัดทั่วประเทศไทยและแรงงานกว่า 6,000 คน
เนื่องจากบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส ให้ความสำคัญกับเป้าหมายคู่ค้าธุรกิจในห่วงโซ่อุปทานขนาดกลางและผู้ประกอบการกลุ่มวัตถุดิบอาหารสัตว์ ประกอบด้วย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันเส้น น้ำมันปาล์ม ผลิตภัณฑ์จากข้าว ปลาป่น ให้ดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมาตรฐานสากล มีการคุ้มครองแรงงานตามหลักสิทธิมนุษยชนและยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน
“กรุงเทพโปรดิ๊วส ยึดมั่นตามนโยบายด้านการจัดหาอย่างยั่งยืนและแนวปฏิบัติสำหรับคู่ค้าธุรกิจ เพื่อยกระดับและเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันของคู่ค้าให้เติบโตได้ด้วยกัน และจะเป็นแบบอย่างในการขยายผลไปยังคู่ค้าในห่วงโซ่ของตนเองต่อไป บริษัทฯ คาดหวังว่า คู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการต้องสามารถผ่านเกณฑ์ประเมินตนเอง (Self-declaration) ตามข้อกำหนดของ มรท. และ 1 ใน 3 ของคู่ค้าธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการ สามารถผ่านการตรวจประเมินและสามารถขอรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (Certification) ในระดับพื้นฐานได้” นายไพศาล กล่าว
สำหรับโครงการนี้ยังช่วยสร้างการมีส่วนร่วมและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับคู่ค้าธุรกิจ ชุมชน เกษตรกร องคก์กรอิสระ และภาครัฐ เพื่อส่งเสริมให้เกิดมาตรฐานการจัดหาอย่างรับผิดชอบและพัฒนาการตรวจสอบย้อนกลับของแหล่งวัตถุดิบสำคัญเพื่อโอกาสในการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals–SDGs) และข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact – UNGC )