รมว.แรงงาน ตรวจเยี่ยมโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ นครราชสีมา ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และฟาร์มเดชาปักธงชัย 2 ต้นแบบสถานประกอบการโรงงาน และฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ที่นำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP มาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา
พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงห์แก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน รวมทั้งนายอำเภอโชคชัย และเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมสถานประกอบต้นแบบกิจการในการนำแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labour Practices : GLP) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงาน ตามแนวทางศาสตร์พระราชา ย้ำภาคเอกชนและเกษตรกรในอุตสาหกรรมไก่เนื้อของไทยเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ ที่ให้ความร่วมมือบริหารจัดการด้านแรงงานที่ได้มาตรฐานสากล และหลักสิทธิมนุษยชน จนได้รับความเชื่อมั่นจากลูกค้าทั่วโลก ทั้งในการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัย มาจากกระบวนการผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม เป็นที่ต้องการของต่างประเทศเพิ่มขึ้น ผลักดันให้อุตสาหกรรมไก่เนื้อสามารถสร้างเงินตราให้ประเทศปีละกว่า 100,000 ล้านบาท มีส่วนช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของพี่น้องแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติประมาณ 125,000 คน
“การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการใช้ GLP ในสถานประกอบการ เพื่อให้กำลังใจและขอบคุณภาคเอกชนและเกษตรกรที่ทุ่มเทพัฒนาด้านการจัดการแรงงานที่ดี และต้องการให้เป็นต้นแบบเพื่อขยายการนำ GLP ไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ต่อไป” รมว.แรงงานกล่าว
ขณะที่ นายทิม บราวน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เวสบริดจ์ ฟู้ดส์ จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ไก่เนื้อของไทยจำหน่ายในประเทศอังกฤษ และสหภาพยุโรป กล่าวว่า ผู้บริโภคในอังกฤษและในยุโรปให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตสินค้าอาหารที่ดูแลความเป็นอยู่ของแรงงานตามสิทธิมนุษยชน ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ไก่เนื้องของไทยที่ได้รับสัญลักษณ์ GLP จึงเป็นที่ยอมรับและไว้วางใจจากลูกค้า
นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ กล่าวว่า ตามที่กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในอุตสาหกรรมผลิตไก่เนื้อส่งออกนำหลักการแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี หรือ GLP มาใช้ในการบริหารจัดการด้านแรงงานตั้งแต่ปี 2559 นั้น ซีพีเอฟได้ส่งเสริมฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อของบริษัทฯ ยึดมั่นดำเนินการตามหลัก GLP ควบคู่กับการพัฒนายกระดับให้ก้าวสู่มาตรฐานแรงงานไทย หรือ Thai Labour Standard ( TLS) ต่อไป
ขณะเดียวกัน ผลักดันให้เกษตรกรในคอนแทร็คฟาร์มทั้งหมดนำหลักการดังกล่าวมาใช้อย่างต่อเนื่องโดยตั้งแต่ปี 2559 -2561 ซีพีเอฟ ได้เข้าไปส่งเสริม GLP ในฟาร์มไก่เนื้อของเกษตรกรในระบบคอนแทร็คฟาร์มทุกแห่ง และตรวจประเมินเพื่อช่วยให้เกษตรกรเจ้าของฟาร์มไก่เนื้อในระบบคอนแทร็คฟาร์มมีความเข้าใจและสามารถปฏิบัติตามหลัก GLP ได้อย่างถูกต้องครบถ้วน และพร้อมส่งเสริมเกษตรกรเจ้าของฟาร์มที่มีศักยภาพสมัครขอรับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย (TLS) จากกระทรวงแรงงานต่อไป
นางสาวเชาวเรศ ไชยเพรี เจ้าของฟาร์มเดชาปักธงชัย 2 เกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อในรูปแบบคอนแทร็คฟาร์มแบบประกันราคาของ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ฟาร์มให้ความสำคัญกับแรงงานทุกคน เพราะกำลังหลักที่ช่วยให้ฟาร์มฯ ดำเนินงานประสบความสำเร็จจนมาถึงทุกวัน พร้อมย้ำว่า นับตั้งแต่ฟาร์มนำหลัก GLP มาใช้ในฟาร์ม โดยได้รับคำแนะนำที่ดีจากราชการและซีพีเอฟ ช่วยให้คนงานเกิดความมั่นใจในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการ ตลอดจนการจ้างงานที่มีสัญญาชัดเจน ขณะเดียวกัน เจ้าของฟาร์มยังได้ประโยชน์มากมาย ทั้งในแง่การบริหารแรงงานและต้นทุน