เกษตรกกว่า 3 หมื่นราย ขอบคุณ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรฯ และกระทรวงสาธารณสุข ที่ไม่แบน3 วัตถุอันตราย “พาราควอต ไกลโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส” จนกว่าจะมีสารทดแทนหรือนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลที่ดีกว่า และไม่สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกร
นายสุกรรณ์ สังข์วรรณะ เลขาธิการสมาพันธ์เกษตรปลอดภัย ผู้แทนคณะเกษตรกร เปิดเผยว่า เกษตรกรในเครือข่ายกว่า 3 หมื่นราย มอบให้เขาไปตัวแทนขอบคุณ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ที่มติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เห็นชอบมาตรการจำกัดการใช้วัตถุอันตรายไม่แบนสารเคมีเกษตร 3 รายการ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพรีฟอส
นายสุกรรณื กล่าวอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วเกษตรกร 5.7 ล้านครัวเรือน หรือ 25 ล้านคน มีความยินดีดำเนินการตามมาตรการต่าง ๆ ที่ภาครัฐกำหนดโดยยึดหลักพื้นฐานความจริงที่เกษตรกรสามารถปฏิบัติได้
ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพทุกคน และสิ่งแวดล้อม ในด้านความปลอดภัย ด้วยประสบการณ์ตรงของครอบครัว และคนใกล้ชิดภาคการเกษตร ตลอดระยะเวลา 50 ปี ไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากพาราควอตตามข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ ทั้งเนื้อเน่า พาร์กินสัน ขี้เถาในทารก มะเร็ง หรือต่าง ๆ
สอดคล้องกับ ผลการประชุมของกลุ่มนักวิชาการและแพทย์จำนวน 15 ราย เกี่ยวกับผลกระทบพาราควอตในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. นายแพทย์สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตแห่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นประธาน ได้ข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า สารกำจัดวัชพืชพาราควอตที่เกษตรกรไทยได้นำมาใช้ “เป็นประโยชน์” ถ้านำไปใช้ตรงจุดประสงค์และปฏิบัติถูกต้องตามข้อแนะนำ หากใช้ผิด ก็ไม่ต่างไปจากสารพิษที่แพทย์นำไปใช้บำบัดโรคและรักษาผู้ป่วย พาราควอตก็ยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรไทยต่อไปจนกว่าจะมีสารกำจัดวัชพืชที่ดีกว่ามาใช้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานด้านระบาดวิทยา ประเทศออสเตรเลีย พ.ศ. 2559 พบว่า ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปว่า การสัมผัสพาราควอตมีส่วนสัมพันธ์กับพาร์กินสัน และสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม สหรัฐอเมริกา ศึกษาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540, 2546, 2549 และ 2555 พบว่า พาราควอต ไม่เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ไม่มีผลต่อระบบสืบพันธุ์หรือตัวอ่อน ไม่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ ไม่มีผลต่อระบบประสาท ไม่เกี่ยวข้องกับการยับยั้งการทำงานของต่อมไร้ท่อ ไม่ยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส และไม่มีผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง สอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์กรอนามัยโลก และการศึกษาภายในประเทศไทยของโดยแพทย์ในหลายสถาบัน รวมทั้งมีรายงานจากหน่วยงานของออสเตรเลียว่ามีการใช้พาราควอตในอีก 80 ประเทศ
ด้านนางสาวอัญชุลี ลักษณ์อำนวยพร ประธานเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีสารใดมาทดแทนพาราควอตได้ และสารชีวภัณฑ์บางยี่ห้อที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป ไม่มีการขึ้นทะเบียนที่ถูกต้อง และมีการผสมของสารเคมี ไม่ได้เป็นสารธรรมชาติตามที่กล่าวอ้าง โดยมีผลการตรวจสอบล่าสุดเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาจากกรมวิชาการเกษตร จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และประสบการณ์ตรง ทั้งในเรื่องผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคม จึงเป็นเหตุให้คณะกรรมการฯ จึงได้ตัดสินใจ ไม่ให้ยกเลิกการใช้ 3 สารเคมี ในขณะที่ข้อกล่าวอ้างต่าง ๆ นั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน
“สุดท้ายนี้ อยากให้ผู้ต่อต้านพาราควอต รณรงค์ยกเลิกห้ามจำหน่ายบุหรี่และสุราในประเทศไทย เพราะอันตรายมากกว่าพาราควอต 300 เท่า ซึ่งมีการเสียชีวิตจากบุหรี่ต่อปีมากกว่า 1 แสนราย” นางสาวอัญชุลี กล่าว