ชสอ.รวมพลังประกาศศักดา“คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง”

  •  
  •  
  •  
  •  

ชสอ. รวมพลังเครือข่ายสหกรณ์สมาชิก 8 ภูมิภาค ประกาศศักดา “คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง” โดยยึดหลักธรรมาภิบาล มุ่งสร้างสหกรณ์สีขาว สะอาด โปร่งใส พร้อมพัฒนาองค์กรตามเกณฑ์มาตรฐาน

        เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2562 รศ.(พิเศษ) พลโท ดร.วีระ วงศ์สรรค์ ประธานกรรมการดำเนินการชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด (ชสอ.) เป็นประธานเปิดพิธีเชิญธงขึ้นสู่ยอดเสา เพื่อแสดงถึงพลังของการเชื่อมโยงเครือข่ายเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. 8 ภูมิภาค และองค์การสหกรณ์ระหว่างประเทศ ประกอบด้วย ธง ชสอ., ธงสมาคมและสมาพันธ์สหกรณ์ออมทรัพย์และเครดิตในเอเชีย หรือ ACCU, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ.กทม. พื้นที่ 1, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. กทม. พื้นที่ 2, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคกลาง,

        ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคตะวันตก, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคตะวันออก, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคเหนือ และธง เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ภาคใต้ พิธีเปิดป้าย “ศูนย์พัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์” พร้อมมอบป้ายรวมพลังรณรงค์ “คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง” แก่ผู้แทนเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. 8 ภูมิภาค เพื่อรวมพลัง ร่วมกันรณรงค์ “คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง” ในปี 2562 ณ สำนักงาน ชสอ. อ.บางกรวย จ.นนทบุรี

        รศ.(พิเศษ) พลโท ดร.วีระ กล่าวว่า กิจกรรมการเปิดป้าย “ศูนย์พัฒนาคุณภาพการบริหาร จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์” เพื่อเผยแพร่และส่งเสริมให้สหกรณ์สมาชิก ชสอ. ได้รู้จักและนำเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ไปใช้ในการประเมินสหกรณ์ตนเอง และมีการพัฒนาสหกรณ์ตนเองให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ 3 คน และหรือวิทยากรพี่เลี้ยงที่ผ่านการอบรม หลักสูตร “การพัฒนาสหกรณ์ตามเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์” จากผู้แทนเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. 8 ภาคๆ ละ 3 สหกรณ์ๆ ละ 1 คน รวม 24 คน จาก 24 สหกรณ์ และฝ่ายจัดการ ชสอ. 4 คน รวมทั้งสิ้น 31 คน ในการให้ความรู้ คำปรึกษา และคำแนะนำเรื่องเกณฑ์มาตรฐานการบริหารจัดการสหกรณ์ออมทรัพย์แก่สหกรณ์ในเขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. 8 ภาค

        ประธานกรรมการดำเนินการ ชสอ. กล่าวว่า ส่วนกิจกรรมมอบป้ายรณรงค์รวมพลัง “คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง” ในปี 2562 หัวใจของการรณรงค์ ชสอ. ต้องการเห็นคนสหกรณ์ที่มีความเป็นมืออาชีพในการบริหารงานสหกรณ์ ด้วยธรรมาภิบาลเพื่อความเป็นสีขาว สะอาด โปร่งใส ของขบวนการสหกรณ์ในประเทศไทย จึงได้ร่วมกับเขตพื้นที่สมาชิก ชสอ.ทุกภูมิภาค ในการทำรวมพลังคนสหกรณ์รณรงค์เรื่องการแก้ไขปัญหาทุจริต คอรัปชั่น ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าว นอกเหนือจากต้องมีระบบ หรือมีกฎหมายแล้ว ความตื่นตัวของสมาชิกสหกรณ์เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะถ้ารู้จักถูก รู้จักผิดแล้ว ไม่มีทางที่จะทำไม่สิ่งที่ไม่ดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง การปลูกฝังให้สมาชิกสหกรณ์ รู้จักความดี โดยตระหนักถึงการเป็นคนดี ที่ไม่กิน ไม่โกง โดยไม่โกงนั้น เริ่มจาก ”ความดีแบบไหน” เพราะความดีมีหลายรูปแบบ เมตตากรุณาก็เป็นความดี กตัญญูรู้คุณ ขยันขันแข็งก็เป็นความดี แต่มีความดีบางอย่างที่เป็นความดีเพื่อส่วนรวม คือบางทีตัวเองต้องเจ็บปวดบ้าง แต่เพื่อคนอื่นแล้วก็ยินดีที่จะทำ

 

        สำหรับแนวคิดร่วมกันในการรณรงค์ คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง ในปี 2562 ได้แก่ 1. ซื่อสัตย์สุจริต คือการยึดมั่นในความสัตย์จริง และสิ่งที่ถูต้องดีงาม รู้จักแยกแยะถูกผิด ปฏิบัติต่อตนเองและผู้อื่นโดยชอบ ไม่คดโกง 2.รับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง คือการมีจิตสำนึกในบทบาทและหน้าที่ของตัวเอง และปฏิบัติหน้าที่ให้ดีที่สุด เคารพกฎเกณฑ์กติกา พร้อมให้ตรวจสอบการกระทำได้เสมอ หากมีการกระทำผิดก็พร้อมที่จะยอมรับ 3.ความเป็นธรรมทางสังคม คือการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันอย่างมีเหตุผล โดยไม่เลือกปฏิบัติต่อเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม และการที่ไม่เอาเปรียบใคร เพราะคนที่ทุจริตคือคนที่เอาเปรียบคน

       4.การมีจิตสาธารณะ คือการมีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม ตระหนักรู้และนึกถึงสังคมส่วนรวม มีความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อส่วนรวม และพร้อมที่จะเสียสละส่วนตนเพื่อรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม และ5.เป็นอยู่อย่างพอเพียง คือการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักความพอประมาณ ซื่อตรง ไม่ละโมบโลภมาก รู้จักยับยั้งชั่งใจ และไม่เอาเปรียบหรือเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น

       ทั้งนี้ ชสอ. จะจัดทำโปสเตอร์ และสติ๊กเกอร์ รวมพลัง คนสหกรณ์จริง ต้องไม่กิน ไม่โกง ส่งให้ เขตพื้นที่สหกรณ์สมาชิก ชสอ. และสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วประเทศร่วมกันรณรงค์ในปี 2562 ให้สาธารณชนเห็นถึงการรวมพลังของคนสหกรณ์จริง ในการต่อต้านการทุจริตในการบริหารสหกรณ์ทุกรูปแบบ เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่อไปในอนาคต