มกอช. ร่วมประชุม HLCD ครั้งที่ 2 ระหว่างไทย-ญี่ปุ่น หารือขยายกรอบมาตรการด้านสุขอนามัยและขอนามัยพืช รองรับส่งออกสินค้าเกษตร ไทยสบช่องเสนอขอเพิ่มโควตา-ลดภาษีสินค้าหมูไทย พร้อมจับมือร่วมป้องกันทำประมง IUU
นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมเจ้าหน้าที่ มกอช. เข้าร่วมการประชุมระดับสูงด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารระหว่างไทย-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 (The 2nd Meeting of The Japan-Thailand High–Level Cooperation Dialogue on Agricultural and Food Industries : HLCD) ซึ่งมีนางสาวดุจเดือน ศศะนาวิน รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และนายฮิโระมิจิ มัตสึชิมะ ปลัดกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมงญี่ปุ่น เป็นประธานร่วมฝ่ายญี่ปุ่น พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐของทั้งสองฝ่าย เข้าร่วมการประชุมหารือ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
นางสาวดุจเดือน กล่าวว่า การประชุม HLCD เป็นการประชุมเพื่อเร่งรัดและผลักดันการดำเนินความร่วมมือ ให้มีผลเป็นรูปธรรมภายใต้กรอบบันทึกแสดงเจตจำนง (Memorandum of Intent-MOI) ว่าด้วยการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาเกษตรกรรม และสาขาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองประเทศได้ลงนามร่วมกัน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2559 โดยมีผู้บริหารระดับปลัดกระทรวงขึ้นไป ของทั้งสองฝ่ายเป็นประธาน และจัดทุก 1-2 ปี โดยสลับเป็นเจ้าภาพ ทั้งนี้ การประชุม HLCD ครั้งที่ 1 จัดไปแล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ณ กรุงเทพฯ ส่วนครั้งที่ 2 มีกำหนดจัด ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งนี้ ไทยได้นำเสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาขยายขอบเขตและเพิ่มแนวทางความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหารภายใต้กรอบความตกลง JTEPA ให้ครอบคลุมถึงมาตรการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช เพื่อให้ความร่วมมือระหว่างกันเพิ่มขึ้น มีขอบเขตกว้างมากขึ้น เป็นประโยชน์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารระหว่างไทยและญี่ปุ่น โดยเฉพาะการเปิดตลาดสินค้าใหม่ระหว่างกัน ซึ่งได้เน้นย้ำถึงความประสงค์ขอเพิ่มโควตา และขอลดภาษีในสินค้าหมูและผลิตภัณฑ์จากไทย โดยอ้างอิงปริมาณการส่งออกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากไทยมีศักยภาพและกำลังการผลิตสูง และญี่ปุ่นเป็นผู้นำเข้าที่สำคัญ ซึ่งญี่ปุ่นรับจะนำไปหารือรายละเอียดต่อในเวทีการค้าสินค้าระหว่างกันต่อไป
ด้าน นางสาวจูอะดี กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช. ได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านธุรกิจอาหาร กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกนำเข้า การขึ้นทะเบียนสินค้า รวมทั้งความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารในลักษณะความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership) นอกจากนี้ ยังได้นำเสนอโอกาสการลงทุนในภาคเกษตรของไทย รวมทั้งการปรับปรุงการบริหารจัดการประมงเพื่อต่อต้านการทำประมง IUU ของไทย (Fisheries Reform) ที่ทำให้ไทยได้ปลดใบเหลืองออกจากสหภาพยุโรป (EU) ทำให้ญี่ปุ่นเห็นถึงความพยายามและศักยภาพในการภาคการประมงไทย นำไปสู่ความร่วมมือในการป้องกันทำประมง IUU ต่อไป