สมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย แนะพรรคการเมืองไทย หยุดนโยบายประชานิยม ชี้ควรชูนโยบายหลัก เร่งสนับสนุนภาคเกษตรกรรม เน้นการเกษตรมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย พร้อมรุกตลาดต่างประเทศ นำรายได้เข้าประเทศอย่างยั่งยืน
ดร. วรณิกา นาควัชระ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมนวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย (ไททา) เปิดเผยว่า รายได้จากภาคเกษตรคิดเป็นร้อยละ 10 ของ GDP โดยมีพืชเศรษฐกิจนำรายได้เข้าประเทศมากมายหลายชนิด อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด ยางพารา ทุเรียน มังคุด แต่ปัจจุบันยังขาดการบริหารจัดการที่ดี ขาดการส่งเสริมอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในหลายด้าน และไม่สามารถเติบโตได้ตามที่ควรจะเป็น
“ภาครัฐบาลได้พยายามส่งเสริมให้ ประเทศไทย เป็น ครัวของโลก แต่ ไททา กลับมองว่า ประเทศไทยจะต้องเป็น จุดศูนย์กลางของอาหารโลก ที่มีคุณภาพและพัฒนาให้เป็น แบรนด์ของประเทศ ในอนาคต ทั้งนี้ การบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว จำเป็นต้องพัฒนาตั้งแต่จุดเริ่มต้น เกษตรกร ปัจจัยการผลิต ระบบการเพาะปลูก การส่งเสริมและสนับสนุน จนถึงการตลาดและจัดจำหน่าย ปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เตรียมพร้อมสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ จึงอยากให้พรรคการเมืองต่าง ๆ หยุดนโยบายประชานิยม เพ้อฝัน หันมาพิจารณา แนวทางที่เป็นจริงและก่อประโยชน์ต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะนโยบายภาคการเกษตร อันเป็นรายได้หลักของประเทศ” ดร. วรณิกา กล่าว
สำหรับขอเสนอ 3 นโยบายหลักด้านการเกษตรที่อยากให้พรรคการเมืองนำไปชูเป็นนโยบายพรรค ได้แก่ 1. เกษตรกรสร้างชาติ เป็นการส่งเสริมความรู้ให้เกษตรกรอย่างเป็นระบบ ประสานร่วมกับภาคเอกชน อุตสาหกรรม และรัฐ เพื่อให้เกิดการปฏิบัติได้จริง รวมทั้ง เชิญนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรในสาขาต่าง ๆ ที่มีประสบการณ์ เข้ามาพัฒนาภาคการเกษตร ไม่ใช่ให้ผู้ที่ไม่มีความรู้และประสบการณ์มาบริหารหรือจัดการภาคเกษตร
2. เกษตรมาตรฐาน GAPใช้สารเคมีปลอดภัย ส่งเสริมความรู้การเกษตรมาตรฐาน GAP ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ในหลายประเทศใช้มาตรฐานนี้ในการกีดกันสินค้าจากไทย ปัจจุบัน ภาครัฐให้เกษตรกรใช้มาตรฐาน GAP โดยสมัครใจ ควรกำหนดให้เป็นมาตรฐานหลักที่ทุกภาคเกษตรต้องปฏิบัติ และ3. ราคากลางสินค้าเกษตร ปัจจุบัน ภาครัฐมีการกำหนดราคากลางสินค้าในหลายประเภท จึงอยากพิจารณาราคากลางสินค้าเกษตรบ้าง ตามความเหมาะสม เพื่อผลประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค
“ปัญหาหลักของภาคเกษตรไทย คือ ยังหลงประเด็นกับการจัดการปัญหาที่ไม่ตรงจุด เรียกได้ว่า เป็นการแก้ปัญหาด้วยการสร้างปัญหาใหม่ อาทิ การระดมสมองเพื่อแก้ปัญหาเกษตรกรระดับประเทศ ควรให้ผู้มีความรู้ ประสบการณ์ กลับให้หน่วยงานอื่นที่ขาดความรู้ ข้อเท็จจริง และข้อมูลวิทยาศาสตร์มาตัดสิน หรือ การสร้างโอกาสในการแข่งขันสินค้าเกษตร ควรพัฒนาเกษตรมาตรฐาน GAP ใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติได้รับการยอมรับทั่วโลก ให้ความรู้เกษตรกรในการเพาะปลูกทุกขั้นตอนให้มีความปลอดภัย โดยใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม ถูกต้อง ตามสภาพแวดล้อมของแต่ละคน หากใครไม่ต้องการใช้สารเคมีก็มีแนวทางแนะนำ หากใครต้องการใช้สารเคมีก็มีวิธีการควบคุม เหมือนการทำงานของแต่ละคน บางคนขับรถ บางคนนั่งรถเมล์ บางคนนั่งรถไฟฟ้า บางคนเดินไปทำงาน ภาครัฐไม่สามารถบังคับให้ทุกคนนั่งรถไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวได้ เพราะสภาพแวดล้อมแต่ละคนต่างกัน ดังนั้น การกำหนดแนวทางจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับประเทศไทย วันนี้” นายกสมาคมไททา กล่าว