โดย…ดลมนัส กาเจ
ในห้วงเวลาตลอด”ปีหมา” (2561)ดูเหมือนว่า ภาคการเกษตรของไทยโดยภาพรวมจะซบเซา ทำให้รัฐบาล โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำหนดยุทธศาสตร์ปฏิรูปภาคเกษตร ว่าด้วยการตั้ง “15 มิสเตอร์สินค้าเกษตร” เพื่อทำงานเชิงรุก ตั้งต้นปี โดยเน้นย้ำว่าต้องเร่งบูรณาการร่วมเอกชนระบายสินค้า หากเกิดปัญหาราคาสินค้าพืชเศรษฐกิจล้นตลาด ราคาตกต่ำ เกษตรกรขาดทุน จะต้องมีคนรับผิดชอบ
แม้นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ระบุว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัว 6.2% โดยเฉพาะสาขาพืช ปศุสัตว์ ประมง ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วยปัจจัยสภาพอากาศที่ดี และพืชไม้ดอกที่มาแรงที่สุดจากการสำรวจไม้ดอกไม้ประดับ แต่ในความเป็นจริงสินค้าเกษตรโดยภาพรวมยังแย่อยู่
3 สินค้าเกษตรสุดฮ็อตแห่งปีหมา
อย่างไรก็ตาม หากจะเจียรนัยเป็นรายๆ ของผลผลิตทางการเกษตรที่สร้างเงิน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในปี 2561 นั้นต้องยอมรับว่า “ไม้ผล” โดยเฉพาะทุเรียนราคาดีมาตลอด เฉลี่ยราคาทุเรียนหมอนทองระดับเกษตรส่งออกขายกันที่หน้าสวนอยู่ที่ กก.ละ 110 บาท สร้างรายเป็นกอบเป็นกำให้กับชาวสวนเป็นอย่างดี
ไม้ดอกก็อีกรายการหนึ่งที่มาแรงและราคาสูงโดยเฉพาะ “มะลิ” ตลอดปีที่มาผ่านมาดอกมะลิที่คนมักจะมองข้าม รากกฏว่าราคาเฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 1,000 บาท ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม 2561 ดอกมะลิราคาส่งที่ตลาดไท ราคา กก.ละ 700-800 บาทถือว่ายังแพงอยู่
ส่วนพืชเศรษฐกิจหลัก อย่าง “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” สถานการณ์แย่สุดๆเมื่อปี 2560 เกษตรกรปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ บอกว่าประสบปัญหาราคาตกต่ำสุดในรอบ 10 ปี เหลือ กก.ละ 5 บาท แต่หลังจากที่รัฐบาลส่งเสริมภายใต้โครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังนา และมีการประกันราคาที่ กก.ละ 8 บาท ปรากฏว่า มีบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้แสดงความจำนงค์รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในโครงการขณะนี้มี 13 บริษัท
สำหรับบริษัทเอกชนทั้ง 13 บริษัทนั้น ประกอบด้วย บริษัท ไทยฟูดส์ อาหารสัตว์ บริษัทซันฟีด บริษัทก้าวหน้าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ บริษัทเบทาโกร บริษัทกรุงไทยอาหาร บริษัทแหลมทองสหการ บริษัทอาร์ที อะกริเทค บริษัทกรุงเทพโปรดิ้วส บริษัทไทยลักซ์เอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัทสีพัฒนาอาหารสัตว์ บริษัทคากิลล์มีทส์ (ไทยแลนด์) บริษัทซีพีเอฟ และบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเปิดรับบริษัทที่สนใจเข้าร่วมโครงการอยู่ ทำให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์พุ่งขึ้นถึง กก.ละ 10 บาทสร้างรายให้ได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างดี
3 ผลผลิตทางการเกษตรราคาแย่ตลอดทั้งปี 2561
ทั้งนี้และทางนั้น โดยภาพรวมราคาสินค้าเกษตรของไทยนั้นยังอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่ โดยเฉพาะพืชเศรษฐกิจที่สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างมหาศาล อย่าง “ยางพารา” ราคาตกต่ำสุดๆบางช่วงเวลายางแผ่นราคา กก.ละ 38 บาท ราคาท้องถิ่น กก.ละไม่ถึง 35 บาท ยางก้นถ้วยไม่ถึง 30 บาท ล่าสุดสิ้นปี 2561 ราคากลางยางแผ่นดิบที่ กก.ละ 41.28 บาท ราคาท้องถิ่นราวๆ กก.ละ 38 บาท ยางก้นถ้วย ราคากลาง กก.ละ 34 บาท ราคาท้องถิ่น 30-31 บาท ขณะที่ต้นทุนอยู่ที่ กก.ละ 62 บาท
“ปาล์มน้ำมัน” ก็อีกหนึ่งผลผลิตทางการเกษตรที่ราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่องตลอดปี เฉลี่ยซื้อขายกันจริงในท้องถิ่นจะอยู่ที่ กก.ละ 1.80-2 บาท ล่าสุดราคารับซื้อผลปาล์มทะลายประจำวัน วันอังคาร ที่ 1 มกราคม 2562 ปาล์มทะลายสุกดี คือ กรด A ราคากก.ละ 2.50 บาท,เกรด B ราคา กก.ละ 2.30 บาท,เกรด C ราคา กก.ละ 2.10 บาท
เช่นเดียวกันกับ ”มะพร้าว” จากเดิมที่เกษตรกรจะขายหน้าสวนที่ราคาผลละ 10-15 บาท ปรากฏว่าตลอดปี 2561 ราคามะพร้าวอยู่ที่ผลละ 3-5 บาท ทำให้เกษตรกรปล่อยทิ้งระเนระนาดและปล่อยให้งอกทิ้งเกลื่อน เพราะไม่คุ้มกับค่าเหยื่อยที่ต้องมาขายนั่นเอง ทั้งนี้เพราะรัฐบาลเอาใจผู้ประกอบการจนเกินพอดีด้วยการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ โดยไม่เลี้ยวแลความเดือดร้อนของเกษตรกรไทยนั่นเอง
แล้วปีหมู (2562) เกษตรกรจะปลูกอะไรดี?
จากภาวะสินค้าเกษตรหลายรายการตกต่ำ เกษตรกรเดือดร้อนอย่างทั่วหน้า ทำให้มีเกษตรกรจำนวนไม่กำลังมองหาว่าจะปลูกอะไรดี ที่มีราคาและลดความเสี่ยงต่อราคาที่ผันผวน เท่าที่เห็นมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่มองว่า ยางพารา ปาล์มน้ำมันราคากำลังตกต่ำจึงโค่นทิ้งปลูกทุเรียน โดยเฉพาะหมอนทอง และที่กำลังมาแรง และตลาดจีนต้องการสูงคือราชาทุเรียนมาเลเซียสายพันธุ์ “มูซังคิง” หรือ “เหมา ซาน หวาง”
กระนั้นเกษตรกรต้องมองไกลและรอบคอบ โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนหมอนทอง ซึ่งก่อนหน้านี้ ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร ผู้เชี่ยวชาญการจัดการโซ่อุปทานด้านเกษตร CLMV (กัมพูชา- สปป.ลาว-มาเลเซีย –เมียนมา) และอุปนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ซึ่งคลุกคลีอยู่ในธุรกิจภาคการเกษตรในประเทศเพื่อนบ้าน ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์ทุกเรียนในอีก 5 ข้างหน้าให้กับ “เกษตรทำกิน” อย่างน่าสนใจยิ่ง
ดร.วรชาติ บอกว่า ปัจจุบันใครๆก็ปลูกทุเรียนเพราะราคาแพง พุ่งเป้าตลาดหลักที่ประเทศจีนที่มีประชากรจำนวนมาก และนิยมบริโภคทุเรียน ซึ่งในอดีตทุเรียนเหล่านี้ล้วนแต่มาจากประเทศไทย ซึ่งส่งในฤดูกาลผลทุเรียนออกสู่ตลาดส่งไปยังประเทศจีนวันละกว่า 100 ตู้คอนเทนเนอร์ บางช่วงอาจถึง 200 ตู้คอนเทนเนอร์
ที่สำคัญปัจจุบัน ดร.วรชาติ บอกว่า ใครก็ปลูกทุเรียนซึ่งไม่ใช่แต่เกษตรกรไทย หากแต่เมียนมาปลูกเป็นจำนวนมากย่านจังหวัดเหมาะลำไย และบริเวณใกล้เคียงอีก -3-4 จังหวัด กัมพูชา เปลี่ยนจากพริกไทยที่กำลังประสบโรคระบาดที่จังหวัดกำปงจาม และอีกหลายจังหวัดก็ปลูกทุเรียน เช่นเดียวกันกับเวียดนามที่ใช้พื้นที่ทางตอนใต้ โดยเฉพาะบริเวณจังหวัดดองนาย ซึ่งทั้ง 3 ประเทศนี้ล้วนแต่ปลูก “หมอนทอง” ของไทย
ดร.วรชาติ ดุลยเสถียร
“ผมว่าอีก 5 ปีข้างหน้า น่าห่วงครับ ต่อไปทุเรียนหมอนทอง อาจไม่ใช่ของไทย เพราะมาจากประเทศเหล่านี้และส่งออกไปยังจีน ที่น่าเป็นห่วงทุเรียนหมอนทองที่ปลูกแหล่งอื่น รสชาติจะเปลียนหรือไม่ จะทำลายเอกลักษณ์ของหมอนทองของไทยหรือไม่ น่าห่วงครับ” ดร.วรชาติ ระบุ
ขณะที่มาเลเซีย โค่นยางพาราและปาล์มน้ำมันบางส่วนแล้ว หันมาปลูกทุเรียน “มูซังคิง”
ทางออกที่ดีที่สุดในยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงของโลกใบนี้ “เกษตรกรต้องเปลี่ยน” เข้าสู่เกษตรสมัยใหม่ ที่เราให้คำนิยามว่า “สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” (Smart Farmer) และต่อยอดในการใช้เทคโนโลยรสมัยใหม่ในรูปแบบของ”สมาร์ท ออฟฟิต”( Smart Officer)
“สมาร์ท ฟาร์มเมอร์” หรือ “เกษตรอัจฉริยะ” บ้างก็ว่าเกษตรปราดเปรียว คือทำการเกษตรอย่างเฉลียวฉลาด ทำให้มีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ ขายได้ราคา ที่สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ ในรูปแบบผู้จัดการฟาร์มอย่างมืออาชีพ ที่สามารถพัฒนากิจการด้านการของเองได้อย่างยั่งยืน เน้นการผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพสูง ปลอดภัยต่อ ผู้บริโภค และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“สมาร์ทฟาร์ม” จึงถือเป็นรูปแบบการทำเกษตรแบบใหม่ ที่จะทำให้การทำไร่ทำนามีภูมิคุ้มกันต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยการทำการเกษตรที่มีความแม่นยำสูง เน้นการพัฒนาเกษตรกรรม 4 ด้านคือ1’การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต,2 การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า,3. การลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ และ4. การจัดการและส่งผ่านความรู้ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศจากการวิจัยไปประยุกต์สู่การพัฒนาในทางปฏิบัติ
นี่คือภาคการเกษตรแห่งอนาคต ต่อไปคนปลูกพืชผัก ทำไร่ทำนา ทำสวน ทำปศุศัตว์ และประมงจะไม่ใช่เป็นเกษตรกรอีกต่อไป หากแต่เป็น “ผู้ประกอบการเกษตร” หรือนักธุรกิจเกษตร บางครั้งอาจไม่จำเป็นที่จะต้องมีพื้นที่ในการทำเกษตรในจำนวนมากๆ แต่ใช้พื้นที่น้อยๆ ให้ได้ผลผลิตและรายได้สูง ด้วยการจัดการเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำน้ำ และปลายน้ำ คือเตรียมพื้นที่อย่างเหมาะ ลงมือเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว แปรรูป สร้างแบรนด์ และหาตลาดเอง โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในสาขานั้นๆมาประยุกต์ใช้แทนแรงงานคนที่จำเป็น แล้วผลิตภัณฑ์จะมีคุณภาพ ได้ราคา และมีผลกำไรที่ตามมานั่นเอง