ซีพีเอฟ ได้รับการรับรองด้าน IT ระดับสากล

  •  
  •  
  •  
  •  

CPF IT Center ของซีพีเอฟ ได้รับการรับรองด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) 3 ระบบ จาก 2 องค์กรสากล ตอกย้ำศักยภาพด้าน IT เดินหน้าธุรกิจในยุคดิจิตอล

          นายประเดิม โชติศุภราช รองกรรมการผู้จัดการบริหาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบงาน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจในยุคดิจิตอล ด้วยการเสริมสร้างศักยภาพในงานบริการด้วยระบบไอทีอย่างต่อเนื่อง

          ล่าสุด Charoen Pokphand Malaysia หรือซีพีมาเลเซีย โดยการสนับสนุนจาก CPF IT Center ผ่านการรับรองระบบการจัดการแบบบูรณาการถึง 2 ระบบ จาก BSI (British Standards Institution) Malaysia ซึ่งเป็นองค์กรดำเนินงานด้านมาตรฐานการบริหารและจัดการในระดับสากล ทั้ง ISO27001: 2013 ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลสารสนเทศ (Information Security Management Systems : ISMS) ที่กำหนดความต้องการ (Set of Requirements) เกี่ยวกับการจัดทำระบบให้มีความมั่นคงปลอดภัย เพื่อช่วยให้องค์กรสามารถสร้างระบบบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยด้านสารสนเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการรับรอง ISO20000: 2011 ซึ่งเป็นมาตรฐานเกี่ยวกับ “IT Service Management : ITSM” ด้านกระบวนการบริหารจัดการงานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่เน้นเรื่องกระบวนการในการให้บริการแก่ผู้ใช้ (Users) และลูกค้า (Customers) เป็นหลัก

            “ความมั่นคงทางข้อมูลมีความสำคัญต่อธุรกิจเป็นอย่างมาก เพื่อความมั่นใจว่าจะไม่มีข้อมูลคู่ค้าหรือข้อมูลสำคัญทางธุรกิจถูกนำไปเปิดเผยได้ รวมทั้งกระบวนการให้บริการด้าน IT ที่มีมาตรฐานย่อมเป็นที่น่าเชื่อถือ ถูกต้อง ตรงตามเวลาที่กำหนดไว้กับผู้ใช้บริการ การพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งหมดนี้ เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจเติบโตสอดรับกับยุคดิจิตอล” นายประเดิม กล่าว

            นอกจากนี้ CPF IT Center ยังได้รับประกาศนียบัตรการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM Certificate) จากไมโครซอฟท์ (Microsoft Operations Pte Ltd.) ที่สะท้อนภาพองค์กรที่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ดี จากการที่บริษัทดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของบรรษัทภิบาลที่ดี ด้วยหลักความเป็นธรรม ความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และตระหนักถึงความสำคัญเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยได้นำระบบการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์มาใช้ตั้งแต่ปี 2553 และยังให้ความร่วมมือกับเจ้าของซอฟต์แวร์ในการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ

               “การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบ IT ของซีพีเอฟ ทั้งในด้านการลดปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และประหยัดค่าใช้จ่าย โดยบริษัทจะยังคงรักษาระดับการเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ดีเช่นนี้อย่างต่อเนื่อง” นายประเดิม กล่าวทิ้งท้าย