“กฤษฎา” สั่ง กยท.เร่งส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากที่สุด ย้ำสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน ต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น ให้เริ่มจากหน่วยงานภาครัฐ ขยายไปในภาคเอกชน พร้อมให้ลดพื้นที่ปลูกลงร้อยละ 30 มั่นจะช่วยรักษาเสถียรภาพยางพาราได้
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) และหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรฯ เร่งส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ เนื่องจากกำลังการผลิต 4.5 ล้านตันต่อปี ใช้ในประเทศเพียง 6 แสนตันหรือประมาณร้อยละ 14.2 เท่านั้น ซึ่งการที่ผลผลิตส่วนใหญ่ถูกนำไปส่งออกมากถึง 86% ทำให้ตลาดมีอำนาจเป็นผู้กำหนดราคา เนื่องจากการซื้อขายเป็นแบบซื้อขายล่วงหน้า จะส่งมอบยางพาราตามที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบมาเลเซียซึ่งใช้ยางพาราในประเทศร้อยละ 35 และส่งออกร้อยละ 65 ทำให้ปัญหาราคายางพาราตกต่ำของมาเลเซียไม่รุนแรงเท่ากับไทย
ปัจจุบันราคายางแผ่นดิบในประเทศไทย กิโลกรัมละ 40 บาท ต้นทุนอยู่ที่ 63 บาท ซึ่งธนาคารโลกเคยวิเคราะห์ไว้ว่า ใน 5 ปีข้างหน้า ราคายางพาราจะไม่เกิน 2 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 66 บาท อีกทั้งขณะนี้ สงครามการค้ามีผลกระทบโดยตรงต่อราคายาง เพราะอุตสาหกรรมที่ใช้ยางพารามาก ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ เมื่อเศรษฐกิจโลกไม่ดี กำลังซื้อรถยนต์ต่ำลง ส่งผลให้ความต้องการยางพาราในตลาดโลกลดลงมาก
ขณะนี้มาเลเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพารารายใหญ่เริ่มลดพื้นที่เพาะปลูกลง ซึ่งมีงานวิจัยของนายอัทธ์ พิศาลวนิช ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในหัวข้อ “วาระแห่งชาติ ยางพาราไทย : อุปสรรคและทางรอด” โดยระบุว่า ปัจจุบันราคายางลดลงถึง 72% จากปี 2554 ไทยยังมีการขยายพื้นที่เพาะปลูกมาก โดยพื้นที่ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. และมีเอกสารสิทธิถูกต้อง 14 ล้านไร่ ส่วนที่แจ้งการปลูกแต่เป็นที่ดินซึ่งไม่มีเอกสารสิทธิมากถึง 4 ล้านไร่ มาเลเซียลดพื้นที่เพาะปลูกลงแล้ว ทั้งนี้ไทยจะต้องทำทั้งลดพื้นที่ปลูกอย่างน้อยร้อยละ 30 ซึ่งจะทำให้ปริมาณความต้องการใช้ในประเทศสมดุลกับการผลิตมากขึ้น ช่วยยกระดับราคาขึ้นได้ รวมทั้งพัฒนาสายพันธุ์ยางพาราเพื่อให้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น
ทั้งนี้ เมื่อลดพื้นที่ปลูกแล้วต้องสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันจำเป็นต้องส่งเสริมการรวมตัวของเกษตรกรในการปลูกยางพารา เพื่อให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้และมีกำลังต่อรองราคาขาย นอกจากนี้ยังควรมีการรวบรวบข้อมูลเกี่ยวกับยางพาราทั้งระบบเพื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์และแนวทางปฏิบัติได้ รวมทั้งส่งเสริมให้นำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ สำหรับสิ่งที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน คือต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น โดยจะเริ่มจากหน่วยงานภาครัฐ แล้วเร่งขยายไปในภาคเอกชนต่อไป