มกอช.บรรลุเป้าเจรจา RCEP ชี้ประกาศใช้สินค้าเกษตร-อาหารไทยพุ่งสู่ตลาดโลก

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. บรรลุเป้าเจรจาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หลังจากที่ได้หารือมาราธอนยาวนานถึง 5 ปี ภายใต้กรอบความตกลงทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่กับประเทศสมาชิก 16 ประเทศ “อาเซียน-ประเทศคู่เจรจา  จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์” รวมประชากรกว่า 3,400 ล้านคน ระบุมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 340 ล้านล้านบาท ชี้ถ้า RCEP ประกาศบังคับใช้ จะยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยสู่ตลาดโลกมากขึ้น

นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า จากการที่ มกอช. ได้มีการเจรจาด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures: SPS) ซึ่งได้พยายามผลักดันและได้เข้าร่วมการเจรจา เพื่อจัดทำข้อตกลงด้าน SPS ภายใต้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) หรือ RCEP มาโดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั้งการประชุมจัดทำข้อตกลงด้าน SPS ภายใต้ RCEP ครั้งที่ 24 เมื่อเดือน ตุลาคม 2561 ล่าสุด ได้บรรลุข้อตกลงสามารถหาข้อสรุปและบรรลุผลการเจรจาร่วมกันได้แล้ว

นางจูอะดี กล่าวอีกว่า ความตกลง RCEP ถือเป็นกรอบความตกลงทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ ประกอบด้วยประเทศสมาชิก 16 ประเทศ ได้แก่ ประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 6 ประเทศ คือ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ รวมจำนวนประชากรมากกว่า 3,400 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรโลก มีมูลค่าการค้ารวมกันสูงถึง 10.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 340 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29 ของการค้าโลก ซึ่งทุกประเทศคาดหวังว่ากรอบ RCEP จะทำให้ประเทศสมาชิกได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกันมากที่สุด ครอบคลุมทั้งการขยายตลาดการค้าสินค้า บริการ และส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งลดอุปสรรคทางการค้าให้มากกว่าความตกลงอื่นที่มีอยู่เดิม

สำหรับข้อตกลงด้าน SPS ฉบับนี้ จะช่วยอำนวยความสะดวก และลดอุปสรรคทางการค้าสินค้าเกษตรและอาหารให้ มีกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูลและการดำเนินการด้าน SPS ระหว่างประเทศสมาชิก กำหนดกรอบระยะเวลาการในดำเนินการที่เหมาะสม สำหรับการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกด้านมาตรการด้าน SPS ส่งเสริมความร่วมมือด้าน SPS อันจะช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยและประเทศสมาชิก RCEP เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

“ หากความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางของตลาดการค้าสินค้าเกษตร และเป็นโอกาสของไทยที่จะสามารถส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศสมาชิก RCEP ได้มากขึ้น รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานของสินค้าเกษตรและอาหารของไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าน้ำตาล อาหารแปรรูป มันสำปะหลัง กุ้ง และข้าว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารส่งออกที่สำคัญของไทย อันจะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร ตลอดจนผู้ผลิตและผู้ส่งออกไทยได้มากขึ้น” เลขาธิการ มกอช. กล่าว