ซีพีเอฟ ประกาศตั้งใจมุ่งพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน พร้อมสนับสนุนคู่ค้าให้พัฒนาการดำเนินงานสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งในด้านนโยบายการจัดหา การตรวจสอบย้อนกลับ และแรงงาน เพื่อแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายในภูมิภาคอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ตั้งเป้าให้คู่ค้าธุรกิจหลักทั้งหมดในประเทศ โดยเฉพาะคู่ค้าธุรกิจปลาป่น ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารกุ้งของบริษัท และเป็นวัตถุดิบชนิดเดียวที่เชื่อมโยงธุรกิจของบริษัทกับการประมง ต้องผ่านการตรวจประเมินด้านความยั่งยืนครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และการปฏิบัติต่อแรงงานภายในปี 2563
ทั้งนี้ บริษัทได้สนับสนุนให้คู่ค้าปลาป่นปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืน และสอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล โดยตั้งแต่ปี 2558 ปลาป่นทั้งหมดที่บริษัทจัดหาและใช้ในประเทศไทยมาจากแหล่งที่ได้รับรองมาตรฐาน IFFO Responsible Sourcing (IFFO RS) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตปลาป่นและน้ำมันปลาอย่างยั่งยืนในระดับสากลที่ดีที่สุดในปัจจุบัน ช่วยให้บริษัทสามารถตรวจสอบแหล่งที่มาของวัตถุดิบได้ถึงเรือประมงที่จับปลา นอกจากนี้บริษัทมีเป้าหมายที่จะเริ่มจัดหาปลาป่นในประเทศเวียดนาม อินเดีย และฟิลิปปินส์ ภายใต้ IFFO RS Improvers Programme (IFFO RS IP) ภายใน ปี 2562
น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ สายธุรกิจสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ อธิบายว่า มาตรฐาน IFFO RS เป็นเครื่องยืนยันถึงความยั่งยืน และความโปร่งใสในการจัดหาปลาป่นของบริษัท ช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจได้ว่าวัตถุดิบที่บริษัทใช้มาจากการทำประมงที่ถูกกฎหมาย
“บริษัทมีนโยบายการจัดหาปลาป่นที่มาจากโรงงานแปรรูปปลา (By-Product) ซึ่งได้รับการรับรองมาตรฐาน IFFO RS หรือ IFFO RS IP ขณะที่ปลาป่นที่มาจากการจับปลา (By-Catch) จะต้องได้รับรองมาตรฐานสากลหรือสามารถตรวจสอบได้โดยกลไกตรวจสอบที่มีกฎหมายรองรับเท่านั้น” น.สพ. สุจินต์ กล่าว พร้อมชี้ว่าการรับรองมาตรฐาน IFFO RS จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทในระยะยาวอีกด้วย
บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพคู่ค้าธุรกิจในเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิตอาหารสัตว์ หรือ GMP+ และได้จัดการอบรมให้กับคู่ค้าสำคัญจำนวนทั้งสิ้น 95 รายในปีนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติต่อแรงงาน รวมทั้งการสร้างความปลอดภัย อาชีวอนามัย เพื่อให้พนักงานของคู่ค้ามีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี เป็นไปตามจุดยืนของบริษัทในการต่อต้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย แรงงานทาส และการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบ รวมถึงมีการตรวจสอบ ควบคุมให้มั่นใจว่าปลาบ่นที่บริษัทใช้ มาจากการประมงที่ถูกต้องตามหลักสากล และปลอดแรงงานทาส
นอกจากนี้ซีพีเอฟยังได้มีการจัดทำแผน 10 ประการ (CPF 10 Point Plan) โดยมีจุดประสงค์ในการลดการใช้ปลาป่น โดยได้พัฒนาสูตรอาหารกุ้งอย่างต่อเนื่องจนในปัจจุบันอาหารกุ้งของบริษัทมีปลาป่นเป็นส่วนประกอบเพียงประมาณ 5 ถึง 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
การสนับสนุนภาคการประมงของบริษัทในระดับประเทศ และระดับโลกนับตั้งแต่ปี 2557 บริษัทได้ร่วมก่อตั้งโครงการ เช่น Thai Sustainable Fisheries Roundtable ซึ่งริเริ่มโครงการพัฒนาและปรับปรุงด้านการประมง (Fishery Improvement Projects) และคณะทำงานร่วมในระดับอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเล (Seafood Task Force) เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรม อาหารทะเลไทยผ่านห่วงโซ่อุปทานที่รับผิดชอบ โปร่งใส และตรวจสอบย้อนกลับได้ โดยมุ่งแก้ปัญหาแรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ และการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม
ในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา ตัวแทนจากบริษัททำหน้าที่เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ (Board of Directors) และ มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการควบคุมห่วงโซ่ อุปทาน ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อให้เข้าใจถึงพฤติกรรม เรือประมงในทะเล โดยสร้างการมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้ หน่วยงานภาครัฐมีความสามารถในการพัฒนาระบบติดตามเรือประมง (Vessel Monitoring System: VMS) ที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งครอบคลุมการดำเนินงานทั้งด้านการติดตาม การควบคุม และการเฝ้าระวัง (Monitoring, Control and Surveillance: MCS) การทำประมงผิดกฎหมายทั่วโลก และเพื่อให้แรงงานในภาคการประมงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี บริษัทได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย
องค์กรสะพานปลา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ในพระราชูปภัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา (บ้านสุขสันต์) จัดตั้งศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ให้ความรู้แรงงานประมง คำปรึกษาและเป็นที่พี่งให้แก่แรงงานและครอบครัว
ในปัจจุบัน บริษัทได้นำเอาแนวทางการประมงอย่ายั่งยืนในประเทศไทย ไปใช้ในธุรกิจสัตว์น้ำของบริษัทในต่างประเทศอีกด้วย