ดันไทยมหาอำนาจทางการเกษตร-มกอช.ผู้นำด้านมาตรฐานในเอเชีย

  •  
  •  
  •  
  •  

“ลักษณ์” ชี้ในปี 62  มกอช. กำหนดทิศทางขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน ให้สอดคล้องกับนโยบายตลาดน้ำการผลิต มุ่งพัฒนาสินค้าเกษตรต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และผ่านการรับรอง “รักษาการเลขาฯ มกอช.” ประกาศชัดจะพลักดันประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร หวังให้องค์กรนำไปสู่การเป็นผู้นำด้านการมาตรฐานในภูมิภาคเอเชียต่อไป

นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังงานวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ครบรอบปีที่ 16 ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย มกอช. ได้ดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะแนวทางการขับเคลื่อนตลาดนำการผลิต ในฐานะที่ มกอช.เป็นหน่วยงานกลางในการขับเคลื่อนงานด้านมาตรฐาน จะบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันหาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล ลดปัญหาการกีดกันทางการค้า พร้อมผลักดันให้มีสินค้าเกษตรคุณภาพ ปลอดภัย ผ่านการรับรอง สามารถส่งออกได้มากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ มกอช. ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานในปี 2562 ในการขับเคลื่อนพัฒนาสินค้าเกษตร โดยใช้แนวทางตลาดนำการผลิต ซึ่งสินค้าเกษตรต้องมีคุณภาพ ปลอดภัย ได้มาตรฐาน และผ่านการรับรอง โดยมีแผนในการขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ 1) การเร่งดำเนินการกำหนดมาตรฐานสินค้าให้ครอบคลุมและเร็วขึ้น เพื่อเสริมประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรให้สอดคล้องกับสากล โดยเฉพาะมาตรฐานที่ส่งผลเชิงการค้า

2) สนับสนุนการตรวจสอบรับรองมาตรฐาน เช่น หลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organic) ให้เป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้า รวมถึงสร้างเครือข่ายหน่วยรับรอง (CB) และหน่วยตรวจ (IB) โดยให้ภาคเอกชน/สถานศึกษามีส่วนร่วมมากขึ้น และพัฒนาผู้ตรวจประเมินให้มีศักยภาพรองรับการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบรับรอง ซึ่งจะช่วยให้ระบบการตรวจรับรองสินค้าเกษตรขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น และทันต่อความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

[adrotate banner=”3″]

3) เดินหน้าเจรจาการค้าระหว่างประเทศในเวทีระดับต่าง ๆ ทั้งในระดับทวิภาคีและนานาชาติ กำหนดท่าทีที่เป็นประโยชน์ต่อสินค้าเกษตรไทย พร้อมรองรับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงสถานการณ์การค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัว เพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้า-การส่งออกสินค้าเกษตรคล่องตัวมากยิ่งขึ้น 4) พัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการออกใบอนุญาตผลิต ส่งออกและนำเข้า ให้มีความทันสมัยและรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง รวมถึงนำเทคโนโลยีมาช่วยพัฒนาการจัดการข้อมูล Big Data ต่อไป 

ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ รักษาราชการแทนเลขาธิการ มกอช.กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช.พร้อมดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งสนับสนุนการทำต้นแบบ (Model) เพื่อส่งเสริมมาตรฐานสินค้าเกษตรร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่นำไปต่อยอดในการพัฒนาท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมการนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ หรือ QR Trace มาใช้ในการยกระดับสินค้าเกษตร สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภค เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร

อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบมาตรฐาน ซึ่ง มกอช.จะดำเนินการควบคู่ไปกับงานด้านการมาตรฐาน เพื่อร่วมพัฒนาภาคการเกษตรของไทยให้มีความสามารถในการแข่งขัน เกษตรกรมีความกินดีอยู่ดี ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจทางการเกษตร และจะผลักดันองค์กรไปสู่การเป็นผู้นำด้านการมาตรฐานในภูมิภาคเอเชียต่อไป