แปรรูปขยะน้ำมันรำข้าว เพิ่มมูลค่า 2,000 เท่า

  •  
  •  
  •  
  •  

ปัญหาการกำจัดขยะของเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าเกษตร ไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อีกต่อไป โลกทั้งใบกำลังจับจ้อง หากไม่มีกระบวนการกำจัดที่ถูกวิธี มาตรการกีดกันทางการค้าจะถูกนำมาใช้แบนสินค้านั้นๆ

ผศ.ดร.จิราภรณ์ ทองตัน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เผยว่า ด้วยผู้ประกอบการโรงสีข้าวใน จ.สุรินทร์ ได้นำข้าวหอมมะลิและน้ำมันรำข้าวไปออกงานแสดงสินค้าในตลาดยุโรป นักธุรกิจต่างชาติได้สนใจสอบถามเรื่องการสกัดน้ำมันรำข้าวหอมมะลิ มีกระบวนการอย่างไร มีของเหลือทิ้งหรือขยะจากการแปรรูปมากแค่ไหน กำจัดด้วยวิธีใด ถ้าไม่สามารถอธิบายให้ชัดเจน นักธุรกิจจะยังไม่เจรจาทำการค้าด้วย เพราะทางสหภาพยุโรปเริ่มมีมาตรการกีดกันสินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว

“ที่ผ่านมาการสกัดน้ำมันรำข้าว จะมีไขรำข้าวหรือแวกซ์เหลือทิ้งเป็นขยะจำนวนมาก การกำจัดมักจะใช้วิธีนำไปผสมในอาหารสัตว์ แต่ก็กำจัดได้ไม่หมด ส่วนใหญ่ะใช้วิธีจ้างคนงานมาขนไปทิ้งเป็นขยะ สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจึงนำโจทย์มาให้ทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต  ช่วยหาวิธีกำจัดแวกซ์ไขรำข้าวเพื่อจะได้ไม่ถูกสหภาพยุโรปกีดกันสินค้า”


ผศ.ดร.จิราภรณ์ บอกว่า จากการศึกษาวิจัยการใช้ประโยชน์จากแวกซ์ สามารถทำได้ 2 วิธี อย่างแรก นำไขรำข้าวมาสกัดใหม่อีกรอบให้เป็นน้ำมันรำข้าวด้วยการทำให้บริสุทธิ์ แต่วิธีนี้การผลิตจะไม่คุ้มทุน เพราะต้นทุนสูงเกินไป แถมยังได้น้ำมันรำข้าวน้อย อีกวิธีนำแวกซ์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าอย่างอื่น เพราะในแวกซ์มีกรดไขมัน (fatty acids) สารลดแรงตึงผิว (esters of higher alcohol) วิตามินอี (vitamin E) สารต้านอนุมูลอิสระ (gamma oryzanol) และยังมีสารเซราไมด์ (Ceramide) บำรุงผิวพรรณให้นุ่มนวลอ่อนเยาว์ ซึ่งสรรพคุณต่างๆ เหมาะที่จะนำไปใช้ในกลุ่มธุรกิจสปา

“เราเลยมุ่งแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับสปาเท้า เพราะไขที่ได้มีสีน้ำตาล ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้กับร่างกายส่วนอื่น ที่สำคัญยังไม่เคยมีที่ไหนทำมาก่อนโดยมีสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนวิจัยด้วยการนำแวกซ์มาผ่านความร้อนให้ละลาย ผสมลงไปในครีมสูตรเฉพาะ และเติมกลิ่นมะลิลงไปเพื่อคงความเป็นไทย โดยผลิตออกมาทั้งหมด 3 สูตร คือ สูตรพอกเท้า (มาสสาจ) สูตรผลัดเซลล์ผิว และสูตรบำรุงฟื้นฟูผิว

”และเมื่อนำไปทดสอบกับกลุ่มอาสาสมัครในมหาวิทยาลัย…นอกจากช่วยแก้ปัญหาริ้วรอยแตก ลดการเกิดตาปลา ยังช่วยให้ผิวหนังบริเวณเท้านุ่ม และยังแก้ปัญหาเท้ามีกลิ่นเหม็นได้อีกด้วย ไขรำข้าว 1 กก. นำมาผสมสูตรครีมสปาเท้าได้ 200 ตลับ ขายได้ 32,000 บาท โดยมีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 8,000 บาท จากไขรำข้าวมีราคา กก.ละ 12 บาท แปรรูปเป็นครีมสปาเท้าได้มูลค่าเพิ่มถึง 2,000 เท่า สนใจสอบถาม 08–1300–2594.

ที่มา : ไทยรัฐ ….โดย.. เพ็ญพิชญา เตียว:  อ่านเพิ่มเติม : https://www.thairath.co.th/content/1353101