พิษสหรัฐทำโรงรมยางสูญ2พันล. วอนรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขเงินกู้1.5หมื่นล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

3 พันโรงรมควันยางพาราสูญ 2 พันล้านบาท เหตุพิษกำแพงภาษีสหรัฐ-จีน ทำราคา “ยางรมควัน” ผันผวนรายวัน เร่งพลิกกลยุทธ์การผลิต เพิ่มแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้น 70% ลดยางรมควันเหลือ 30% น้ำยางข้นแปรรูปได้หลากหลาย พร้อมวอนรัฐผ่อนปรนเงื่อนไขเข้าถึงแหล่งเงินกู้ ธ.ก.ส. 15,000 ล้านบาท โดยเฉพาะกำหนดสถาบันเกษตรกรต้อง “กำไร” เหตุราคายางตกขาดทุนต่อเนื่องกันหลายปี

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการ กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรผู้ส่งออกยางรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่สหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีการค้า 45% กับประเทศจีน และการที่นักลงทุนซื้อขายล่วงหน้าที่ตลาดยางเซี่ยงไฮ้ ล้วนส่งผลให้เกิดการกดราคายางลดลง และส่งผลต่อสถาบันการเกษตร เนื่องจากไทยส่งออกยางไปสู่จีนปริมาณมาก และจีนนำไปผลิตล้อยางรถยนต์ส่งออกไปสหรัฐอเมริกาถึง 40%

ทั้งนี้ สถานการณ์ราคายางพาราผันผวนเกิดขึ้นทั้งในส่วนน้ำยางสด และยางรมควัน ส่งผลให้สถาบันในกลุ่มสหกรณ์ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ราคายางรมควันลดต่ำกว่าราคารับซื้อน้ำยางดิบในช่วงราคาผันผวน แต่ผู้ค้ายางรายใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีการป้องกันความเสี่ยงผ่านการสต๊อกยางพาราในปริมาณมาก รวมถึงเข้าลงทุนในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ขณะที่สถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากไม่สามารถป้องกันความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวนวันต่อวันได้ เพราะไม่มีเงินทุนสะสมเพียงพอที่จะสต๊อกยางพาราที่รับซื้อมา

ด้านนายเรืองยศ เพ็งสกุล ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนคนกรีดยางและชาวสวนยางรายย่อย (วคยถ.) และสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) กล่าวว่า กลุ่ม วคยถ. ประกอบด้วยสมาชิกโรงรมควันยางพาราประมาณ 250 โรง ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ และพัทลุง ขาดทุนโดยเฉลี่ยโรงรมละ 500,000 บาท/ปี นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เฉลี่ยทั้งกลุ่มเสียหายราว 125 ล้านบาท ทั้งนี้ จากโรงรมทั่วประเทศกว่า 3,000 ราย ความเสียหายรวมอาจถึง 2,000 ล้านบาท

จากการประชุมร่วมกับสถาบันเกษตรกร เช่น สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มยาง ฯลฯ ประมาณ 100 กว่าราย พบว่าสถาบันเกษตรกรหลายแห่งเปลี่ยนอัตราส่วนการผลิตน้ำยางสดเพื่อการแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ประมาณ 70% และอีก 30% เป็นยางรมควัน จากเดิมที่อัตราส่วนเท่ากัน 50% เนื่องจากยางรมควันมีตลาดรองรับเพียงการแปรรูปเป็นล้อยางรถยนต์ส่งออกไปจีน ในขณะที่น้ำยางข้นสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น หมอน ที่นอน ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และอุปกรณ์การแพทย์ สำหรับส่งออกไปยังประเทศมาเลเซีย และขายตลาดภายในประเทศ

ส่วนที่รัฐบาลสนับสนุนแหล่งเงินทุนช่วยเหลือสถาบันเกษตรกรยางพาราจำนวน 2 โครงการผ่านธนาคารเกษตรและสหกรณ์ฯ (ธ.ก.ส.) งบประมาณ 15,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกร 10,000 ล้านบาท และโครงการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกร เพื่อลงทุนและเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการแปรรูปยางพาราจำนวน 5,000 ล้านบาท นายเรืองยศกล่าวว่า ในส่วน 10,000 ล้านบาท ยังคงเหลืออยู่กว่า 8,000 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันเกษตรกรยางพาราติดเงื่อนไขที่กำหนดว่า ต้องเป็นสถาบันเกษตรกรยาง กลุ่มยาง ฯลฯ ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปี และมีผลกำไร รวมไปถึงกรรมการสถาบันเกษตรกรยาง คู่สมรสจะต้องลงนามยินยอมร่วม และต้องมีคณะกรรมการ 15 คน ซึ่งมีหลักประกัน เงินกู้ เป็นหลักทรัพย์ โดยเฉพาะที่ดิน เป็นต้น และจะต้องมีเอกสารแสดงกว่า 20 รายการ โดยต้องผ่านการตรวจสอบพิจารณาจากคณะกรรมการอีกหลายคณะ

เงื่อนไขหลักที่สถาบันเกษตรกรเข้าถึงได้ยาก คือ มีกำไร เนื่องจากผลประกอบการของสถาบันเกษตรกรยางในระยะปี 2559-2560 ล้วนประสบภาวะขาดทุน กรณีคู่สมรสมต้องเซ็นยินยอม บางรายคู่สมรสไม่ได้ประกอบกิจการยางจึงไม่เซ็นยินยอมเพราะไม่เกิดความเชื่อมั่น รวมถึงวิสาหกิจชุมชนที่มีคณะกรรมการไม่ถึง 15 คนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ ทั้งยังเรื่องหลักทรัพย์ที่กำหนดเฉพาะที่ดินเพียงอย่างเดียว ในขณะที่ที่ดินของเกษตรกรต่างวางเป็นหลักค้ำประกันไว้กับ ธ.ก.ส.เป็นส่วนใหญ่ก่อนหน้าแล้ว” นายเรืองยศกล่าว

 

ในขณะที่นายชำนาญ เมฆตรง ประธานกรรมการ ชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย จำกัด (ชสยท.) โดยผู้ประกอบการค้ายางแผ่นรมควันจำนวนหนึ่งได้หาทางออกผ่านการทำสัญญาซื้อขายผูกพันวันต่อวัน และส่งมอบยางรมควันในอีก 6 วันเพื่อรับประกันความเสี่ยง จึงเสนอทางออกให้ กยท.เป็นผู้ดำเนินการทำการซื้อขายล่วงหน้า ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ผลิต กล่าวคือ ทำสัญญาซื้อราคาวันนี้และส่งมอบภายใน 7 วัน เพื่อป้องกันการแก้ไขการขาดทุน ไม่ต่างกับการซื้อขายตลาดล่วงหน้าที่ต่างประเทศ

“ปัจจุบันใน ชสยท.ที่ทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีปริมาณน้อยราย ประเด็นหาผู้ซื้อไม่ได้ น่าจะขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นของผู้ซื้อว่า ไม่สามารถจะส่งมอบยางรมควันให้ได้ตามกำหนด เพราะเวลายางพาราราคาขึ้นจะไม่ส่งมอบ และจะส่งมอบในช่วงราคายางขาลง ขึ้นอยู่ที่ความเชื่อมั่น จึงอยู่ที่ กยท.เป็นผู้ดำเนินการ

ทั้งนี้ จะสามารถแก้ไขปัญหาการขาดทุนได้ ส่วนน้ำยางสดแม้มีราคาต่ำลงแต่ไม่ผันผวนรุนแรงเท่ายางแผ่นรมควัน เพราะรับทราบราคาวันต่อวัน ส่งมอบวันต่อวัน” นายชำนาญกล่าว

นายเยี่ยม วโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กล่าวว่า กยท.ได้อนุมัติงบประมาณ 250 ล้านบาท สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนจ่ายให้เกษตรกรวันต่อวันในการรับซื้อยางจากเกษตรกรในตลาดกลางยางพาราของ กยท.จำนวน 6 แห่ง ประกอบด้วย จ.หนองคาย บุรีรัมย์ ยะลา สงขลา นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ตอนนี้สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เพราะเกษตรกรเริ่มนำยางเข้าไปขายในตลาดยางของ กยท.มากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมราคาและปริมาณยางได้ ผ่านการที่ กยท.เป็นตัวกลางในการเจรจากับผู้ซื้อ ในลักษณะการประมูลแข่ง ทำให้ราคากลับเข้าสู่ระบบที่ควรจะเป็น

ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/local-economy/news-191168