มิตรผลชง4พันไร่ตั้งนิคมบ้านไผ่ BOIเล็งเว้นภาษีไบโอเทคโนโลยีขั้นสูงกว่า10ปี

  •  
  •  
  •  
  •  

“มิตรผล” เตรียมที่ดิน 4 พันไร่ อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ขึ้น “นิคมอุตสาหกรรมชีวภาพ” “อิสระ” เผย BOI เตรียมพิจารณาสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ธุรกิจไบโอชีวภาพแบ่งตามเทคโนโลยีระดับกลาง-เทคโนโลยีขั้นสูง อาจได้รับยกเว้นมากเป็นพิเศษกว่า 10 ปี ด้าน “เกษตรไทย” ผนึก GGC เดินหน้าไบโอฮับนครสวรรค์ แก้แบบวิศวกรรมขั้นสุดท้ายเสร็จแล้ว พร้อมลุยเฟสแรกทันที 8 พันล้านบาท

หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งโครงการเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มูลค่า 1.33 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) ที่รัฐบาลให้การสนับสนุนภาคเอกชนใช้นวัตกรรมไปวิจัยต่อยอดสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยมีพื้นที่นำร่อง 3 โครงการ ได้แก่ ภายในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC), ภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จ.นครสวรรค์ กำแพงเพชร และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.ขอนแก่น ขณะนี้แผนพัฒนาอุตสาหกรรม (2561-2570) อยู่ระหว่างรอกระทรวงอุตสาหกรรมนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบนั้น

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานอาวุโส บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทน้ำตาลมิตรผลได้เตรียมที่ดินประมาณ 4,000 ไร่ บริเวณอำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมชีวภาพแล้ว แต่พื้นที่บางส่วนยังติดผังเมืองไม่สามารถจัดตั้งโรงงานได้ เท่าที่ทราบเวลานี้ทางรัฐบาล โดยกระทรวงอุตสาหกรรมกำลังพิจารณาแก้ไข เพราะเดิมในการจัดทำผังเมืองไม่ได้คิดถึงภาคเกษตร ว่าโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรควรต้องตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตร หากโรงงานไปตั้งไกลจากพื้นที่ปลูกพืชเกษตร จะทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรลำบาก เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งไกล ซึ่งคิดว่ารัฐบาลกำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ แต่จะทำอย่างไรให้เป็นอุตสาหกรรมทางด้านการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร พวกอุตสาหกรรมสีเขียว ไม่ใช่อุตสาหกรรมหนัก รวมถึงการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆขึ้นอยู่กับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) จะพิจารณาว่าเป็นเทคโนโลยีระดับกลาง เทคโนโลยีระดับสูง อาจจะได้รับการ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคลในระยะเวลาที่แตกต่างกันไป เช่น ถ้าเป็นเทคโนโลยีระดับสูงอย่างการวิจัยพวกฟาร์มาซูติคอล วิตามิน ยาฆ่าเชื้อ อาจจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลมาก 10 กว่าปี จะได้รับสิทธิประโยชน์มากเป็นพิเศษ

“จริง ๆ แล้วโรงงานไบโอชีวภาพควรขึ้นได้ทั่วประเทศ เพราะไบโอชีวภาพใช้พืชเกษตรเป็นวัตถุดิบในการผลิต ขึ้นอยู่กับใช้พืชชนิดไหน อ้อย มันสำปะหลัง ฯลฯ โดยนำร่องที่จังหวัดขอนแก่น และนครสวรรค์ก่อน อยู่ที่การวิจัย การผลิตจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อะไร เช่น ผลิตยีสต์ วิตามิน อาหารเสริม ผลิตได้ตั้งแต่ทางภาคเหนือจดใต้ ผมคิดว่าเรื่องไบโอชีวภาพมันเกิดอยู่แล้ว พวกผู้ประกอบการรายเล็ก SMEs ที่ทำพวกอาหารเพื่อสุขภาพก็ถือว่าใช่ และพวกน้ำตาลแคลอรีต่ำก็ใช่ มิตรผลก็เริ่มทำยีสต์ และน้ำตาลแคลอรีต่ำเราก็ทำอยู่ แต่จะเพิ่มมูลค่าขึ้นไปอีก เพียงแต่ใครวิจัยโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งต้องใช้การวิจัยอย่างลึกซึ้ง จะได้รับสิทธิประโยชน์มากหน่อย” นายอิสระกล่าว

เล็งวิจัยเบกกิ้งยีสต์ชนิดพิเศษ

นายอิสระกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันที่ดิน 4,000 ไร่ ที่จะทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม แต่ยังตั้งไม่ได้ ต้องใช้เวลา ตามแผนที่วางไว้ภายในนิคมอุตสาหกรรมจะมีบริษัทพันธมิตรอื่น ๆ เข้ามาร่วมภายในนิคมอุตสาหกรรมด้วย สำหรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพ เฟสแรก ได้เริ่มทำวิจัยน้ำตาลที่มีแคลอรีต่ำ เริ่มทำอาหารสัตว์ กำลังดูจะทำเบกกิ้งยีสต์ (baking yeast) ที่นำไปทำขนมปัง จะเป็นยีสต์ชนิดพิเศษ ซึ่งทำจากกากน้ำตาล (โมลาส) ซึ่งจะเป็นยีสต์ที่บริษัทคนไทยผลิตได้เอง โดยทุกวันนี้ยีสต์ที่ขายในท้องตลาดเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ การวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ต้องมีโนว์ฮาวมาก จึงควรต้องมีพาร์ตเนอร์ที่ทำธุรกิจเหล่านี้ในตลาดอยู่แล้ว

“เราอยากทำผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ท้องตลาดเร็วที่สุด แต่ยังบอกไม่ได้ว่า ภายในกี่ปี เพราะการทำวิจัยและพัฒนาสินค้านวัตกรรมเหล่านี้ต้องลึกซึ้ง ไม่ใช่อยู่ ๆ ทำออกมาแล้วสู้คนอื่นไม่ได้ก็ไม่ควรทำ ต้องรอความพร้อม ตอนนี้อาหารสัตว์เราก็ทำอยู่ ทั้งโรงงานน้ำตาลของมิตรผลที่ประเทศจีนและโรงงานน้ำตาลของมิตรผลที่ประเทศไทยช่วยกันทำการวิจัย โดยประเทศจีนมีเทคโนโลยี มีงานวิจัยที่รวดเร็ว มหาวิทยาลัยในจีนก็ช่วยในเรื่องงานวิจัยอยู่มาก” นายอิสระกล่าวว่าสำหรับงบฯลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของกลุ่มมิตรผลที่ผ่านมาตั้งเป้าหมายจะลงทุนปีละ 500 ล้านบาท แต่ปัจจุบันยังไม่ถึง เพราะต้องพิจารณาให้รอบคอบ ว่าจะวิจัยเรื่องอะไรแล้วได้ผลไปดูนักวิจัยด้วย ไม่ใช่อยู่ ๆ นำเงินไปให้ใครก็ได้ ต้องคัดสรรคนที่เชี่ยวชาญทั้งนักวิจัยคนไทยและชาวต่างประเทศ

รง.ใหม่ อ.บ้านไผ่ติดผังเมือง

รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรมระบุว่า ได้แก้ปัญหากรณีโรงงานในเขตเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ติดปัญหาผังเมืองในพื้นที่ 3 จังหวัด (นครสวรรค์-กำแพงเพชร-ขอนแก่น) โดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เสนอให้แก้ประกาศแนบท้ายกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดประเภทโรงงานใหม่จาก “เคมี” เป็น “เคมีชีวภาพ” กับเสนอให้ผู้ประกอบการสามารถตั้งโรงงานไบโอชีวภาพในเขตที่เป็นสีเขียวได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องแก้สีผังเมือง ซึ่งทั้ง 2 แนวทางอยู่ที่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและบีโอไอในการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

สำหรับส่วนต่อขยายการลงทุนในโครงการ Bioeconomy ในภาคอีสานตอนกลางลงทุน 29,705 ล้านบาท ในขอนแก่น ประกอบไปด้วยนิคมอุตสาหกรรม Bioeconomy ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ร่วมกับบริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (BIG), โครงการผลิตเอนไซม์น้ำ Yeast Probiotics และ Beta-glucan ของกลุ่มบริษัท เอเชีย สตาร์ เทรด จำกัด (AST) และบริษัท เอเชีย สตาร์ แอนิมัล เฮลธ์ จำกัด (ASAH), โครงการ Dried Yeast-เอนไซม์ไฟเตส สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร-Lactic Acid/Sugar Alcohol สำหรับอุตสาหกรรมอาหาร/เครื่องสำอาง ของบริษัท น้ำตาลมิตรผล, บริษัท ดีเอสเอ็ม นิวทริชั่นแนล โปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (DSM), บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) และบริษัท อูเอโนไฟน์เคมีคัลส์ อินดัสตรี (ประเทศไทย) จำกัด (UENO)

ทั้งนี้ กลุ่มน้ำตาลมิตรผลถือเป็น 1 ใน 36 โรงงานที่ยื่นขอจัดตั้งโรงงานน้ำตาลแห่งใหม่กับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ตั้งแต่ปลายปี 2558 และได้ใบรับรองการตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ไปแล้ว แต่พื้นที่ยังติดปัญหาผังเมือง โดยกลุ่มมิตรผลยื่นเสนอขอตั้งโรงงานใหม่ทั้งหมด 5 แห่ง ได้แก่ บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด)-บริษัทน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ (อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น)-บริษัทน้ำตาลมิตรผล (อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ) และบริษัทชูการ์ เอคเซ็ลเล็นซ (อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์)

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ  : อ่านเพิ่มเติม :https://www.prachachat.net/local-economy/news-183314