ปัจจุบันธุรกิจ “น้ำมันกฤษณา” หนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญได้เปิดกว้างมากขึ้น แต่ผู้ประกอบการยังเป็นบริษัทของกลุ่มอาหรับ ตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นตลาดใหญ่เข้ามาดำเนินการเอง
ทว่าวันนี้ “ดำ พุทธเกษร” ประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมสกัดน้ำมันไม้กฤษณาจังหวัดตราด และนายกสมาคมไม้กฤษณาจังหวัดตราด ในฐานะเจ้าของกิจการน้ำมันกฤษณา ภายใต้แบรนด์ “D.D.Oud Oil” ซึ่งมีการเปิดร้านจำหน่ายที่ซอยนานา สุขุมวิท 3 ได้ก้าวขึ้นเทียบชั้นแนวหน้าบริษัทในระดับโลก โดยมีโอกาสไปออกบูทงานแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันและเครื่องหอมกฤษณา ประจำปี 2561 ณ นครดูไบ ยูเออี และโอมาน
จี้รัฐรับรองมาตรฐานส่งออก
โดย “นายดำ” เล่าถึงที่มาของการทำน้ำมันกฤษณาว่า เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาได้ค้นพบแก่น หรือสารน้ำมันจากต้นกฤษณาธรรมชาติที่ถูกกระสุนปืนและสะเก็ดระเบิดจากการสู้รบบริเวณป่าชายแดนไทย-ในกัมพูชา อ.บ่อไร่ และ อ.เมืองตราด จ.ตราด มีการหลั่งสารน้ำมันเพื่อรักษาแผล ทำให้เนื้อไม้มีสารน้ำมัน จึงทดลองกับเพื่อน นำเหล็ก ตะปู สว่านไปเจาะต้นที่มีอายุเกินกว่า 10 ปีในป่า แล้วนำเนื้อไม้ที่มีสารน้ำมันไปขายให้พ่อค้าต่างชาติกิโลกรัมละ 100,000 กว่าบาท ต่อมาเริ่มสกัดน้ำมันขาย เมื่อไม้ธรรมชาติเริ่มหมด จึงเริ่มปลูกทดแทน แรก ๆ ขาย 3,000-4,000 บาทต่อโตร่า (1 โตร่าเท่ากับ 12.5 ซีซี) แต่ปัจจุบันลดลงเฉลี่ย 2,000 บาทต่อโตร่า
ผลิต “น้ำหอม” เพิ่มมูลค่า
นายดำกล่าวว่า การทำน้ำมันกฤษณามี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นเนื้อไม้ เรียกว่า “ไม้ตัว” สีดำ เนื้อหนามีน้ำมันมาก เป็นไม้ที่เจาะไว้ 10-12 ปีขึ้นไป แกะเนื้อไม้ออกมาตัดเป็นชิ้นสี่เหลี่ยม 2 นิ้ว ใช้จุดไฟ มีกลิ่นหอม ไม่แสบตา เป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมราคาสูง 500,000 บาท/กก. ถ้าเป็นเกรดซูเปอร์พรีเมี่ยม ราคา 850,000 บาท/กก. ทดสอบดูชิ้น “ไม้ตัว” จะจมน้ำ แต่ถ้าเป็นเกรดไม่ดีชิ้นบาง ไม่จมน้ำราคาอยู่ 10,000 บาท
และส่วนที่ 2 เนื้อไม้ที่นำไปกลั่นน้ำมัน นำเนื้อไม้ไปผ่า ตากแดด นำมาบด หมักและต้ม กลั่นในกระบวนการสกัดน้ำมัน ซึ่งน้ำมันที่ได้มากน้อยขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ทำแผลทิ้งไว้ ถ้า 10 ปีขึ้นไปจะได้น้ำมันมากและคุณภาพดี เกรดพรีเมี่ยมราคา 300,000-400,000 บาท/กก. ส่วนที่เป็นน้ำมันต้องเป็นต้นที่อายุ 4-5 ปีขึ้นไป และเจาะเนื้อไม้ทิ้งไว้ 3-4 ปี ราคา 200,000-250,000 บาท/กก.หรือโตร่าละ 2,000-3,000 บาท ทั้งนี้ ในการออกงานอีเวนต์แต่ละครั้งมีลูกค้าสั่งซื้อตั้งแต่ 1-2 กก. สูงสุดถึง 20-50 กก.
ทุกวันนี้พัฒนาน้ำมันกฤษณาเป็นกลิ่นต่าง ๆ ได้ 18 กลิ่น และลูกค้านิยมซื้อไปเป็นส่วนผสมน้ำหอม สร้างมูลค่าเพิ่ม จึงคิดค้นกระบวนการทำผลิตภัณฑ์น้ำหอมขึ้นมาเอง ภายใต้แบรนด์ D.D.Oud Oil เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่มี 8 กลิ่น แต่มี 2 กลิ่นที่ได้รับความนิยมมาก คือ กลิ่นซูเปอร์พรีโม่(SUPREMO) สำหรับผู้ชาย และกลิ่นออร์ล่า (AUKA) สำหรับผู้หญิง โดยบรรจุขวดคริสตัล ขนาด 60 มิลลิกรัม สั่งทำจากโรงงานในสาธารณรัฐเชโกสโลวะเกีย ออสเตรเลีย แคนาดา จำหน่ายในราคา 4,000 บาท/ขวด
“ปัจจุบันน้ำมันกฤษณาขายเป็นน้ำมัน 90% และผลิตภัณฑ์น้ำหอม 10% ทำเองทั้งหมดตั้งแต่ผลิต จัดจำหน่าย การตลาด ทำเป็นระบบครอบครัว มีลูกสาว ลูกชายช่วยกิจการ ลูกสาว 4 คนเรียนจบมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ วางแผนให้เลือกเรียนมหาวิทยาลัยที่มีชาวอาหรับเรียน เพื่อให้มีเพื่อนและเรียนรู้ภาษาอาหรับ จึงทำการตลาดในกลุ่มประเทศอาหรับได้ค่อนข้างสะดวก และส่งลูกสาวไปเรียนทำน้ำหอมที่ฝรั่งเศสเพิ่มเติม”
เล็งหาตัวแทนต่างประเทศ
นายดำกล่าวต่อไปว่า เมื่อเดือนพฤษภาคมไปออก 2 งาน คือ Beauty World Middle East 08-10 May, 2018 ที่นครดูไบ และงาน Thai Trade Exhibition OMAN 2018 ที่เมืองดัสกัส ประเทศโอมาน ซึ่งแบรนด์ D.D.Oud Oil มีลูกค้าประจำอยู่แล้ว และมีลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นลูกค้า V.I.P. มาจากซาอุดีอาระเบีย คูเวต กาตาร์ ดูไบ โอมาน และยุโรป ยอดออร์เดอร์ออกงานแต่ละครั้งเพิ่มขึ้น 100-200%
จุดขายคือน้ำมันทำจากไม้กฤษณาที่บริสุทธิ์ ปราศจากสารเคมี มีกลิ่นหอมหวาน สีน้ำผึ้งเข้มสวย (พลอยโกเมน) ราคาโตร่าละ 3,000-4,000 บาท เคยมีลูกค้าตามไปซื้อถึงโรงงานที่ตราด เพราะต้องการเห็นกระบวนการผลิตด้วยวิธีธรรมชาติ และใน “ไม้ตัว” ที่ใช้จุดสูดดมกลิ่นไม่แต่งสี ควัน ไม่ทำให้แสบตา กลิ่นหอมติดทนนาน
ทั้งนี้ หาก “ไม้ตัว” หรือ “ไม้แก่น” เนื้อหนา สีดำมัน เกรดซูเปอร์พรีเมี่ยม ต้องมาจากไม้กฤษณาธรรมชาติอายุ 50-60 ปีขึ้นไป ซึ่งเมื่อ 30 ปีก่อนเคยมี และขายได้กิโลกรัมละ 300,000 บาท แต่ปัจจุบันราคาขึ้นไปถึง 1 ล้านเหรียญสหรัฐ/กก.แต่ไม่มีสินค้า เรียกว่า ราคาเพชรยังสู้ไม่ได้
“การเปิดร้าน D.D.Oud Oil ที่ซอยนานา มีลูกค้าตามปกติ แต่การออกอีเวนต์ในต่างประเทศสำคัญมาก เพราะเสมือนตลาดกลางใหญ่ของโลก แต่ละครั้งเป็นโอกาสได้พบลูกค้าประจำ และลูกค้าใหม่ ๆ ที่มีกำลังซื้อสูง หากมีใบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานภาครัฐ จะช่วยส่งเสริมการทำตลาดในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น แนวโน้ม 1-2 ปีนี้อาจมีตัวแทนจำหน่ายของ D.D.Oud Oil ในต่างประเทศ อยู่ระหว่างศึกษากฎหมาย ข้อสัญญาร่วมกัน และเตรียมทำเว็บไซต์ให้เข้าถึงลูกค้าในวงกว้างขึ้น เพราะจังหวัดตราดได้รวมเป็นคลัสเตอร์และสมาคมไม้กฤษณา ทำให้มีวัตถุดิบเพียงพอขยายตลาดน้ำมันกฤษณาและผลิตภัณฑ์น้ำหอมของประเทศไทยได้”
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/local-economy/news-180657