เค.เอส.เอฟปลื้มปลาร้าได้มาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล ทั้ง GMP และ HACCP ปลอดภัย ไร้กังวล ด้านรองเลขาฯ มกอช.ชี้มาตรฐานปลาร้าไทยเน้นเชิงคุณภาพ ไม่บังคับให้ผู้ประกอบการต้องทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ยกเว้นสินค้าส่งออกไปตลาดอียูบังคับต้องระบุชัด “ปลาเลี้ยง” หรือ “ปลาจับจากธรรมชาติ” ต้องจับให้ถูกกฎ IUU ด้วย
นางวีรดาอร พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์ ผู้จัดการ บริษัท เค.เอส.เอฟ ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทเป็นโรงงานผู้ผลิตปลาร้ารายใหญ่ในจังหวัดมหาสารคาม มีการใช้วัตถุดิบจากปลาเดือนละประมาณ 10,000 กิโลกรัม เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ปลาร้าบด ปลาร้าบอง น้ำปลาร้าปรุงต้มสุก เป็นต้น ทั้งนี้ สินค้าของบริษัทมีขายทั้งในประเทศและภูมิภาคเอเชีย โดยไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากมาตรการควบคุมของภาครัฐที่ออกมาใหม่ หลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่และการตรวจสอบอย่างเข้มข้น สินค้าสามารถขายในประเทศและต่างประเทศได้ตามปกติ
“อย.จะมาตรวจตั้งแต่สถานที่ตั้งของโรงงาน กระบวนการผลิต และคุณภาพของผลิตภัณฑ์เพื่อให้ได้มาตรฐานทุกขั้นตอน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ปลาร้าที่จะไปวางจำหน่ายในท้องตลาดมีคุณภาพและความปลอดภัยถึงมือผู้บริโภค รวมถึงมาตรฐาน HACCP ที่เราได้รับจะเป็นเรื่องของระบบจัดการคุณภาพด้านความปลอดภัย ซึ่งใช้ในการควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้อาหารที่ปราศจากอันตรายจากเชื้อจุลินทรีย์ สารเคมี และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ดังนั้นสินค้าของบริษัทจึงเป็นที่เชื่อถือยอมรับจากผู้บริโภคมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา
กรณีที่ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ที่ออกมาไม่มีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท และถือว่าเป็นผลดี เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมการผลิตและแปรรูปปลาร้าที่ได้มาตรฐานตามที่ระบบ GMP และ HACCP กำหนดไว้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทจึงมีความสะอาด ปลอดภัย ส่งจำหน่ายทั้งตลาดภายในประเทศและภูมิภาคเอเชีย
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 นั้น วัตถุประสงค์ของประกาศดังกล่าวต้องการควบคุมในเชิงคุณภาพไม่ได้มีการกำหนดหรือบังคับว่าต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าวัตถุดิบที่นำมาผลิตปลาร้ามาจากแหล่งใด เพราะจะทำให้ยากเกินไปสำหรับผู้ประกอบการที่ไม่ได้ส่งออกไปสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา
“ปลาร้าที่ชาวบ้านผลิตส่วนใหญ่เป็นปลาจับจากธรรมชาติ ถ้าจะให้ไปตรวจสอบย้อนกลับคงลำบาก ถ้าเรากำหนดเยอะเกินไป ผู้ประกอบการจะบอกทำไม่ได้ สำหรับผู้บริโภคภายในประเทศเรื่องปลาร้า ความจำเป็นในการตรวจสอบย้อนกลับไม่ได้จำเป็นนัก เพราะในเรื่องความปลอดภัยไม่ค่อยมีปัญหานัก ไม่เหมือนการทำปลากระป๋องส่งออก เราจึงไม่เห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องให้ทุกคนทำระบบตรวจสอบย้อนกลับ ถ้าส่งออกไปบางประเทศจำเป็นต้องทำ โดยเฉพาะอียูจะกำหนดเงื่อนไขที่เข้มงวดในการส่งออก เช่น กำหนดว่าต้องมีข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าปลามาจากแหล่งผลิตไหน เป็นปลาเลี้ยงจากฟาร์มหรือปลาจับจากธรรมชาติ และถ้าปลาจับจากธรรมชาติอียูบังคับว่าจะต้องจับอย่างถูกต้องตามข้อกำหนดของการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing)รวมถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกใช้บรรจุภัณฑ์อย่างไร บางประเทศอาจจะกำหนดลักษณะการบรรจุ หรืออเมริกากำหนดกฎเกณฑ์ว่า ผู้ที่จะส่งออกสินค้าต้องไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานของประเทศอเมริกาก่อน หรือในด้านสุขอนามัยบางครั้งกำหนดว่า ผลิตภัณฑ์ต้องผ่านการฆ่าเชื้อให้ความร้อน กฎระเบียบแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป ต้องดูว่าบริษัทที่ส่งออกไม่ได้ ติดขัดปัญหาตรงไหน ถ้ามีปัญหาปรึกษากรมประมงได้” นายพิศาลกล่าว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิมเติม : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-176556