IUU กระทบส่งออก “ปลาร้า” สารคาม ปรับมาตรฐานรง.ตีตลาดอียู-สิงคโปร์-ลาว

  •  
  •  
  •  
  •  

โรงงานผลิตปลาร้าใหญ่ “เค.เอส.เอฟ. ฟู้ดฯ” จ.มหาสารคาม จุกอก หลังถูกกฎ IUU แบนส่งออกปลาร้าไปต่างประเทศ ทั้งสิงคโปร์-สหภาพยุโรป-สปป.ลาว เหตุไม่มีเอกสารระบุแหล่งที่มาวัตถุดิบ “ปลาน้ำจืด” ชัด ล่าสุดเร่งปรับสถานที่ผลิต-บรรจุภัณฑ์-วางระบบตรวจสอบย้อนกลับ รอกรมประมงมาตรวจรับรองก่อนลุยส่งออกต่อ ส่วนประกาศมาตรฐานปลาร้าของกระทรวงเกษตรฯไม่กระทบธุรกิจ พช.มหาสารคามเผยยอดจำหน่ายปลาร้าสูงหลักหลายร้อยล้านต่อปี

นายคงศักดิ์ คณะมะ หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชน จ.มหาสารคาม เปิดเผยว่า จ.มหาสารคาม มียอดจำหน่ายสินค้าโอท็อปกว่า 1.2 พันล้านบาท/ปี โดยอาหารจำพวกปลาร้ามียอดจำหน่ายรวมหลายร้อยล้านบาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้สนับสนุนส่งเสริมผู้ผลิตปลาร้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นสินค้าได้มาตรฐานส่งออก กรณีที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มาตรฐานเลขที่ มกษ.7023-2561 ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และปลอดภัยนั้น การออกกฎหมายมาควบคุมน่าจะเกิดประโยชน์ต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้ยอดขายพุ่งสูงขึ้นไปอีก

นางภิมลภรณ์ พึ่งโพธิ์เจริญพันธ์ ผู้จัดการ บริษัท เค.เอส.เอฟ ฟู้ดโปรดักส์ จำกัด อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม โรงงานผลิตปลาร้ารายใหญ่เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างรอกรมประมงเข้ามาตรวจสอบโรงงาน หลังจากที่ได้ทำการปรับปรุงสถานที่ผลิต และอุปกรณ์ให้เป็นสเตนเลส เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานการส่งออกตามหลักเกณฑ์ของกรมประมง เนื่องจากตั้งแต่อียูให้ใบเหลืองไทยเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ตั้งแต่ปี 2558 ทางกรมประมงมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดในการส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาร้าไปต่างประเทศ ส่งผลให้บริษัทไม่สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาร้าไปตลาดสหภาพยุโรป สิงคโปร์ และ สปป.ลาว ซึ่งเป็นตลาดหลักที่เคยส่งออกไปได้ ทำให้ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายได้เพียงตลาดภายในประเทศ

“ที่ผ่านมาบริษัทเคยส่งออกไป สปป.ลาว ซึ่งนิยมบริโภคปลาร้าบด ปลาร้าตัว และปลาร้าบอง รวมถึงประเทศสิงคโปร์ นิยมน้ำปลาร้าต้มสุก และตลาดสหภาพยุโรป (อียู) แต่เมื่ออียูให้ใบเหลืองไทย ทำให้ขายได้เฉพาะตลาดภายในประเทศ ปัจจุบันบริษัทใช้วัตถุดิบปลาสดตัวใหญ่หลากหลายพันธุ์ ได้แก่ ปลากระดี่ ปลาหมอ ปลาแปบ ปลานิล ปลาช่อน และปลาดุก ซึ่งแต่ละเดือนใช้ปลาสดประมาณ 10,000 กิโลกรัม ใช้เวลาหมักประมาณ 1 ปี และจำหน่ายปลาร้าเป็นตัวกว่า 10,000 ตัว/เดือน รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ ได้แก่ ปลาร้าบด ปลาร้าบองน้ำปลาร้าปรุงต้มสุก และปลาร้าผง เป็นต้น”

สำหรับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า ที่ออกมาไม่น่าจะมีผลกระทบกับการดำเนินธุรกิจของบริษัท เนื่องจากบริษัทเป็นโรงงานผลิตปลาร้าแห่งแรกในประเทศไทย ที่มีการควบคุมการผลิตและแปรรูปปลาร้า โดยได้รับการรับรองมาตรฐานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้รับมาตรฐาน GMP และ HACCP อย่างถูกต้อง มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ รวมถึงบรรจุภัณฑ์มีความสะอาด ปลอดภัย และมั่นใจในเรื่องกลิ่น เนื่องจากมีการใช้บรรจุภัณฑ์แบบสุญญากาศ ส่งจำหน่ายตลาดในประเทศเป็นหลัก

ทั้งนี้ ปี 2561 คาดว่ายอดจำหน่ายจะเพิ่มขึ้นประมาณ 30% เพราะปัจจุบันปลาร้าได้รับความนิยมในการบริโภคมากขึ้น

ด้านนางทองม้วน ศรีทัดยศ ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านหนองล่าม ต.เหล่าบัวบาน อ.เชียงยืน จ.มหาสารคาม กล่าวถึงกรณีเดียวกันว่า ทางกลุ่มไม่มีความกังวลเกี่ยวกับประกาศกระทรวงเกษตรฯที่ออกมา และไม่กระทบต่อธุรกิจ เนื่องจากมีกระบวนการผลิตที่มีมาตรฐาน ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิม ผนวกกับวิทยาการสมัยใหม่ที่ภาครัฐเข้ามาสนับสนุน เช่น การบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด มีคุณภาพ ได้รับการรับรองมาตรฐาน อย.

ขณะที่วัตถุดิบหลักอย่างปลาสด เลือกใช้ปลาน้ำจืด ได้แก่ ปลาขาว ปลาสร้อย ปลากระดี่ ปลานิล เป็นต้น ซึ่งปกติใช้ปลาสดมาผลิตประมาณ 1,000 กิโลกรัม/เดือน ระยะเวลาหมักประมาณ 6-12 เดือน จึงนำมาจำหน่ายและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้แก่ ปลาร้าหมักตัว ปลาร้าผง ปลาร้าต้มสุก และปลาร้าบอง ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มได้รับมาตรฐานเป็นสินค้า OTOP ของอำเภอและจังหวัด สร้างรายได้หลายสิบล้านบาทต่อปี

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/local-economy/news-173453