มกอช.จับ 8 ม.ดังสร้างผู้ตรวจประเมิน GAP-เกษตรอินทรีย์

  •  
  •  
  •  
  •  

มกอช. จับมือ 8 มหาวิทยาลัยดัง ลนาม MOU สร้างผู้ตรวจประเมินมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ในระดับอุดมศึกษา  สร้างอาชีพใหม่แก่นิสิตนักศึกษา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้ตรวจประเมิน ขยายโอกาสทางการค้าให้คล่องตัวก้าวไกลมากยิ่งขึ้น

        วันที่ 25 พ.ค.61 นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) พร้อมด้วย รศ.เกศนี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผศ.ดร.นิคม มูลเมือง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ รศ.ดร.มนต์ชัย ดวงจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผศ.ทวีศักดิ์ นิยมบัณฑิต คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท คณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยนเรศวร ผศ.ดร.มนัชญา สังข์ศรีอินทร์ รองคณบดีคณะคณะเทคโนโลยีฝ่ายอำนวยการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และผศ.ดร.เยาวลักษณ์ จันทร์บาง หัวหน้าศูนย์วิจัยและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ว่าด้วยการสร้างผู้ตรวจประเมินมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ ในระดับมหาวิทยาลัยที่สำนักงาน มกอช.

         นางสาวเสริมสุข กล่าวว่า จาก มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ให้มีการดำเนินการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรองคุณภาพมาตรฐานของส่วนราชการต่างๆ ให้ภาคเอกชนหรือภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวมาเป็นระยะ ได้แก่ ดําเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การหารือภาคเอกชน สมาคม ที่จะมารับโอนงานเพื่อเตรียมความพร้อมไม่ให้เกิดช่องว่างหรือชะงักงัน โดยมีการทําข้อตกลงในการถ่ายโอนงานเรื่องการให้บริการและค่าบริการในแต่ละเรื่อง กระบวนงานการตรวจรับรอง (Accreditation) ที่หน่วยงานภาครัฐจะต้องให้การรับรองมาตรฐานการทํางานของภาคส่วนอื่นที่จะมารับโอนงานจากรัฐ ให้เป็นที่เชื่อถือและยอมรับจากผู้ที่เกี่ยวข้อง

         รวมทั้งผลักดันและส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองคุณภาพ กลไกการดําเนินการดังกล่าว สร้างขึ้นเพื่อให้ระบบการมาตรฐานของประเทศไทยมีความเข้มแข็ง และรักษาความเชื่อมั่นของการออกใบรับรองถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบและรับรอง

         ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มกอช. ได้ร่วมมือกับ กรมการข้าว กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมวิชาการเกษตร ในการรับรองความสามารถให้หน่วยรับรอง (Certification Body : CB) และหน่วยตรวจ ( (Inspection Body :IB) ภาคเอกชน เพื่อรองรับการถ่ายโอนภารกิจ ด้านการตรวจสอบและรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แต่ปัญหาอุปสรรค์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การขาดแคลนผู้ตรวจประเมิน ทำให้ศักยภาพของหน่วยรับรอง(CB) และหน่วยตรวจ (IB) ภาคเอกชน ไม่สามารถรับงานจากภาครัฐได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะด้าน GAP และเกษตรอินทรีย์ แม้ว่า มกอช. และหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะพยายามฝึกอบรมเพื่อพัฒนาความสามารถให้กับบุคลากรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นผู้ตรวจประเมิน เป็นประจำทุกปีแล้วก็ตาม

[adrotate banner=”3″]

       อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความยั่งยืนและมีบุคลากรด้านการตรวจประเมินสินค้าเกษตรและอาหาร เข้าสู่ตลาดงานภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง มกอช.จึงกำหนดแผนการพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ตรวจประเมิน/ ที่ปรึกษาเกษตรกรตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics) ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ให้กับนิสิต นักศึกษา ในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศ ให้มีองค์ความรู้ และมีจำนวนเพียงพอตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics)        สอดรับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพิ่มความรวดเร็วในการดำเนินงาน สร้างความเชื่อมั่นของการออกใบรับรอง

         สำหรับการลงนามในครั้งนี้เกิดขึ้นโดย มกอช. และมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ได้แก่ หาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยแม่โจ้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้หารือความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรร่วมกัน

          ด้านนางสาวนลินทิพย์ เพณี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน มกอช. กล่าวเพิ่มเติมว่า มกอช.มีแผนดำเนินการพัฒนาหลักสูตรสำหรับผู้ตรวจประเมิน/ ที่ปรึกษาเกษตรกรตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics) ด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ ในระดับมหาวิทยาลัย

         โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้ และเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านการตรวจประเมินและรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตร ตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agriculture Practices : GAP) และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (Organics) ให้เพียงพอต่อความต้องการของประเทศไทย สอดรับนโยบายการถ่ายโอนภารกิจด้านการตรวจสอบรับรองของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มกอช. และมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งดังกล่าว จึงได้หารือความร่วมมือในการสร้างและพัฒนาบุคลากรเพื่อเตรียมความพร้อมด้านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ซึ่งจะเป็นอนาคตที่สำคัญของประเทศไทย โดยจัดให้มีพิธีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาหลักสูตรผู้ตรวจประเมิน ตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์ร่วมกัน โดยมีกรอบการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของความร่วมมือ ก็คือ มกอช. และมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่งดังกล่าวร่วมมือกันผลักดันให้มีกิจกรรมภายใต้กรอบความร่วมมือ

        ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์แห่งข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ และ มกอช.จะสนับสนุนด้านวิชาการ และบุคลากร โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้ง 8 แห่ง ในการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อเตรียมความพร้อมการเป็นผู้ตรวจประเมินงานตามมาตรฐาน GAP และเกษตรอินทรีย์

         ผู้อำนวยการกองส่งเสริมมาตรฐาน กล่าวอีกว่า นิสิต นักศึกษา ที่เข้าร่วมหลักสูตรดังกล่าว จะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ด้านการตรวจประเมินขั้นพื้นฐาน เมื่อจบการศึกษาสามารถนำคุณวุฒิไปสมัครงานในหน่วยงานรับรองทั้งภาครัฐและเอกชน หรือพัฒนาตนเองให้ก้าวไปสู่อาชีพผู้ตรวจประเมินได้ต่อไปได้ในอนาคต ทั้งนี้ การพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่อาชีพผู้ตรวจประเมินนั้น ต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว ทั้งทักษะ ความรู้เฉพาะด้าน รวมถึงการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการตรวจเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ตามคุณสมบัติที่หน่วยงานรับรองมาตรฐานต้องการ ซึ่งการดำเนินการตามความร่วมมือนี้ มกอช.คาดว่าจะสามารถเตรียมนักศึกษาเข้าสู่ระบบการตรวจสอบรับรองในเบื้องต้นได้ ในปี 2563 จำนวนกว่า 500 คน

 

        หลังจากการลงนามในวันนี้แล้ว มกอช. จะจัดอบรมมาตรฐานและการตรวจประเมิน (Training Of the Trainer) ให้แก่อาจารย์ ทั้ง 8 มหาวิทยาลัย เพื่อให้เข้าใจหลักการและภาพรวม สามารถนำไปสื่อสารให้กับนิสิต นักศึกษา ให้สอดคล้องตามวัตถุประสงค์การดำเนินการ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน โดยมหาวิทยาลัยจะต้องจัดให้มีหลักฐาน หรือใบประกาศนียบัตรที่ยืนยันหรือทวนสอบนิสิตนักศึกษาเหล่านั้นว่าเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถตามข้อกำหนดของหลักสูตรดังกล่าว เพื่อให้พัฒนาสู่การเป็นผู้ตรวจประเมินที่มีประสิทธิภาพและก่อให้เกิดการขยายโอกาสทางการค้าต่อไป