ฮือฮา..ทุเรียนไทยสู่แดนมังกร ผ่านTmail ของ“อาลีบาบา กรุ๊ป”

  •  
  •  
  •  
  •  

           “ในแต่ละวันจะมีรถตู้คอนเทนนอร์ขนส่งทุเรียนจากที่ศูนย์รับซื้อแห่งนี้ประมาณวันละ 2- 4 คัน ผ่านไปตามเส้นทางสู่ภาคอีสานสิ้นสุดที่จังหวัดนครพนม ข้ามแดนผ่านไปยังประเทศลาว เวียดนาม ก่อนเข้าสู่ชายแดนประเทศจีน จะใช้เวลาประมาณ 5 วันจากจังหวัดจันทบุรีถึงประเทศจีน”

          นับตั้งแต่กลางเดือนเมษายน 2561  ที่ผ่านมา ทุเรียนได้กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากมายตามสื่อต่างๆ  หลังจากที่ แจ็ค หม่า ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มอาลีบาบา ของอาลีบาบา ได้เดินทางมาประเทศไทย และประกาศความร่วมมือระหว่างอาลีบาบา กรุ๊ปและรัฐบาลไทยในการผลักดันสินค้าเกษตรต่างๆ ของไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน

             การเดินทางมาไทยของแจ็ค หม่า ในครั้งนี้ นอกจากนำทีมงานด้านเศรษฐกิจและการลงทุนมาเจรจากับรัฐบาลไทยแล้ว Tmall แพลทฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ของอาลีบาบาที่ใหญ่ที่สุดอันดับสามของโลก ได้นำคณะสื่อมวลชนจีน เดินทางมาเยี่ยมชมนาข้าวในจังหวัดฉะเชิงเทรา สวนทุเรียนและศูนย์กลางรับซื้อผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี  เพื่อนำข้อมูลกลับไปเผยแพร่ให้ผู้บริโภคชาวจีนได้รับรู้ถึงแหล่งที่มาของสินค้าเกษตรของไทย นับเป็นประสบการณ์ที่ตื่นตาตื่นใจสำหรับสื่อมวลชนจีนได้เห็นถึงแหล่งผลิตสินค้าเกษตรคุณภาพของไทย ได้ทดลองชิมข้าวหอมมะลิพันธุ์ต่างๆ และเห็นถึงขั้นตอนต่างๆ ของทุเรียน ตั้งแต่การตัดจากต้นจนถึงจัดเรียงใส่ตู้คอนเทนเนอร์เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน      

           จากโปรโมชั่นขายทุเรียนล่วงหน้าบนเว็บไซต์ Tmall เมื่อเร็วนี้ ที่มียอดสั่งซื้อจากผู้บริโภคชาวจีนถึง 130,000 คำสั่งซื้อ โดยเป็นยอดสั่งซื้อทุเรียนหมอนทองในนาทีแรกที่เปิดจองถึง 80,000 ลูก  ถึงแม้จะมีคำสังซื้อเป็นจำนวนมากแต่ทุเรียนที่จะส่งออกไปประเทศจีนก็ยังคงต้องมีคุณภาพระดับพรีเมี่ยม  เพราะการจะส่งออกสินค้าเกษตรไปยังตลาดจีนได้นั้น ต้องผ่านมาตรฐานการส่งออกของไทย และมาตรฐานการนำเข้าสินค้าเกษตรของจีน  และการได้มาเยี่ยมชมถึงแหล่งผลิตในครั้งนี้  จะทำให้สื่อมวลชนจีนได้เห็นว่าสินค้าเกษตรของไทยที่ขายบนเว็บไซต์ Tmall ไม่ว่าจะเป็นข้าวหอมมะลิ หรือทุเรียนหมอนทอง ต้องได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างดีตั้งแต่การปลูก เก็บเกี่ยว คัดเลือก ก่อนที่จะส่งออกจากประเทศไทย

             การเดินทางเริ่มต้นจากการเยี่ยมชมนาข้าวที่ชาวนาร่วมกับผู้ค้าข้าวให้กับเว็บไซต์ Tmall  บริษัท เอเชีย โกลเด้น ไรซ์ นำพันธุ์ข้าวมาทดลองปลูกเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวขาวที่ไม่ใช่พันธุ์หอมมะลิ แต่มีความนุ่ม และมีรสชาติที่มีความหวานที่คนจีนชื่นชอบ การได้เห็นแปลงนาด้วยตนเอง นอกจากสื่อมวลชนจีนจะได้เห็นแหล่งผลิตข้าวที่อุดมสมบูรณ์ คงความเป็นธรรมชาติแล้ว ยังได้รับรู้ว่าผู้ค้าข้าวไทยมีการค้นคว้าวิจัยข้าวพันธุ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวใหม่ๆ ที่ให้น้ำตาลต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว การพัฒนาพันธุ์ข้าวชนิดต่าง ๆ ส่งผลดีให้กับทั้งเกษตรกรและผู้ค้าข้าวให้สามารถขยายตลาดได้มากขึ้น และผู้บริโภคชาวจีนเองก็มีทางเลือกเพิ่มขึ้นด้วย

            จากนั้นคณะสื่อมวลชนเดินทางมุ่งสู่จังหวัดจันทบุรี แหล่งปลูกทุเรียนพันธุ์ดีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และได้แวะที่สวนทุเรียนเนื้อที่มากกว่า 100 ไร่ ของนายบุญเรือง ประทุม ในตำบลเขาสระบาป อำเภอขลุง สำหรับตัวนายบุญเรืองเอง นับว่าเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในแต่ละปีสวนทุเรียนของเขาสามารถสร้างผลผลิตได้ถึง 100 ตัน และเป็นผลผลิตคุณภาพดีเกรดพรีเมี่ยม จนศูนย์รับซื้อผลไม้หลายรายต้องจับจองทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิตกันเลยทีเดียว  และส่วนหนึ่งของทุเรียนเกรดพรีเมี่ยมจากสวนนี้ก็มีขายบนเว็บไซต์ Tmall ด้วย ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้เกษตรกรอย่างนายบุญเรืองสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่ดีขึ้น

             นายบุญเรือง กล่าวถึงวิธีการปลูกทุเรียนให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพว่า  การปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพดีนั้น ต้องเริ่มจากการดูแลบำรุงดิน การให้ปุ๋ย การตัดดอก การคัดลูกติดต้น ซึ่งขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากและต้องใช้ประสบการณ์ดูว่าลูกไหนควรตัดทิ้ง ลูกไหนควรเก็บไว้ จะเก็บไว้มากน้อยแค่ไหนจึงจะให้ได้ผลที่พอดีและสมบูรณ์ จากนั้นเป็นการแต่งกิ่ง ผูกโยงเชือกเพื่อรับน้ำหนักเมื่อผลทุเรียนโตเต็มที่ และขั้นตอนสุดท้าย คือ การเฝ้ารอให้ทุเรียนแก่จัดพร้อมตัดจากต้น ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาราว 120 วัน

           ส่วนการตัดทุเรียนจากต้น ก็ต้องใช้คนงานที่มีประสบการณ์ในการคัดผลที่แก่จัดก่อนตัด การโยน การรับ ซึ่งต้องทำได้อย่างคล่องแคล่ว รวดเร็ว และเสียหายน้อยที่สุด

           หลังจากได้ชมวิธีการเก็บทุเรียนจากต้นจนถึงการขนส่งออกจากสวนแล้ว คณะสื่อมวลชนได้เดินทางไปยัง ศูนย์กลางรับซื้อผลไม้ ซูเปอร์ฟรุต ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้จัดส่งทุเรียนหมอนทองให้กับ Tmall ที่ให้การต้อนรับคณะสื่อมวลชนอย่างอบอุ่น พร้อมนำชมและอธิบายวิธีการ และขั้นตอนต่างๆ อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่การชั่งน้ำหนัก คัดเกรด บรรจุลงกล่อง และจัดเรียงใส่ตู้คอนเทนเนอร์พร้อมส่งออกไปประเทศจีน ซึ่งขั้นตอนที่สื่อมวลชนให้ความสนใจมากที่สุดคือ การเคาะทุเรียนเพื่อตรวจดูคุณภาพของทุเรียน หากเคาะแล้วมีเสียงโปร่งๆ กลวงๆ แสดงว่าทุเรียนแก่จัด ได้คุณภาพเหมาะกับการส่งออก

           

           ด้าน นางสาวจรินทร์ ศิริการ เจ้าของศูนย์กลางรับซื้อผลไม้ ซูเปอร์ฟรุต ไทยแลนด์ เล่าให้ฟังว่า  การเลือกทุเรียนจะเลือกตัดทุเรียนที่สุกราว 70-80% เพื่อให้ทุเรียนสุกพร้อมรับประทานพอดีเมื่อส่งถึงประเทศจีน เมื่อคัดเกรดทุเรียนออกเป็น เอ บี และซี แล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุลงกล่องๆ ละ 5 – 6 ลูก หรือกล่องละ 18.5 กิโลกรัม จากนั้นจะลำเลียงขึ้นรถตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งบรรจุได้ตู้ละ ประมาณ 900 กล่อง ในแต่ละวันจะมีรถตู้คอนเทนนอร์ขนส่งทุเรียนจากที่ศูนย์รับซื้อแห่งนี้ประมาณวันละ 2- 4 คัน ผ่านไปตามเส้นทางสู่ภาคอีสานสิ้นสุดที่จังหวัดนครพนม ข้ามแดนผ่านไปยังประเทศลาว เวียดนาม ก่อนเข้าสู่ชายแดนประเทศจีน จะใช้เวลาประมาณ 5 วันจากจังหวัดจันทบุรีถึงประเทศจีน

              นางสาวจรินทร์ เล่าอีกว่า ความต้องการผลไม้ไทยที่มากขึ้นจากตลาดจีนจะส่งผลดีให้กับธุรกิจส่งออกของไทยในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นยอดขายที่เพิ่มขึ้นหรือโอกาสการทำงานที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับแรงงานในพื้นที่  ชาวสวนเองก็สามารถขายผลผลิตได้ราคาดี รู้ถึงความต้องการของตลาด ทำให้สามารถบริหารจัดการกับผลผลิตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

            ความร่วมมือของอาลีบาบา กรุ๊ป กับภาครัฐในการผลักดันสินค้าเกษตรของไทยเพื่อส่งออกไปยังประเทศจีนที่เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ โดยขายผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ TMall นั้น จะทำให้เกษตรกรมีช่องทางการตลาดการขายเพิ่มขึ้น  และด้วยข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคของอาลีบาบา เกษตรกรสามารถนำข้อมูลมาวางแผนการเพาะปลูก คาดการณ์ปริมาณผลผลิต ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด จัดการระบบขนส่ง และโลจิสติกส์ให้รวดเร็วและทันกับความต้องการของผู้บริโภค

[adrotate banner=”3″]   

            ตัวอย่างเช่น ผู้ค้าข้าว ได้นำข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไปพัฒนาสแน็คที่ทำจากข้าวทำให้ได้รสชาติที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ ประโยชน์ต่างๆ ที่ได้จากความร่วมมือในครั้งนี้   จะช่วยเสริมศักยภาพของเกษตรรายย่อยและผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น เนื่องจากโอกาสทางการค้าที่เปิดกว้างมากขึ้นในตลาดโลก   อันจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้นตามไปด้วย