สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบเดือนมี.ค.พุ่งทะลุ 4.5 แสนตัน กดราคาผลปาล์มดิบดิ่งต่ำสุดถึงกิโลกรัมละ 2.40 บาท

  •  
  •  
  •  
  •  

มันปาล์มดิบเดือนมี.ค.พุ่งทะลุ 4.5 แสนตัน กดราคาผลปาล์มดิบดิ่งต่ำสุดถึงกิโลกรัมละ 2.40 บาท สวนทาง “พาณิชย์”ออกราคาแนะนำกก.ละ 3.40 บาท แฉโรงงานรวมหัวขึ้นป้ายรับซื้อแค่กก.ละ 3.10 บาท พอเอาเข้าไปขายจริง เจอกดเปอร์เซ็นต์น้ำมันอีก สุดท้ายขายได้แค่ 2.8-2.90 บาทเท่านั้น ส่วนการเร่งระบายสต๊อกก็สุดอืด ส่งออกได้น้อย ในประเทศใช้ลดลง รอลุ้น กนป.มีมาตรการอุ้ม

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ขณะนี้สต๊อกน้ำมันปาล์มดิบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตัวเลขล่าสุดเดือนมี.ค.2561 มีสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบในปริมาณ 4.5 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ. ที่มีปริมาณ 4 แสนตัน และเดือนม.ค.ที่มีปริมาณ 4.23 แสนตัน แยกเป็นสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบของโรงงานสกัด 1.53 แสนตัน สต๊อกโรงกลั่น 1.49 แสนตัน สต๊อกโรงไบโอดีเซล 3.60 หมื่นตัน และคลังรับฝาก 1.11 แสนตัน ซึ่งถือเป็นปริมาณสต๊อกที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติที่ควรจะมีไม่เกิน 2-3 แสนตัน และถือเป็นแรงกดดันทำให้ราคาปาล์มดิบปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ จากปริมาณสต๊อกที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ทำให้โรงงานสกัดชะลอการรับซื้อผลปาล์มดิบจากเกษตรกร ทำให้เกษตรกรไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตได้ และส่งผลให้ราคาตกต่ำลงต่อเนื่อง โดยราคาล่าสุดบางจังหวัดตกลงไปถึงกิโลกรัม (กก.) ละ 2.40 บาท หรือเฉลี่ยขายได้ที่ กก.ละ 2.80-2.90 บาท ซึ่งไม่เท่ากับที่กรมการค้าภายในประกาศราคาแนะนำที่ กก.ละ 3.40 บาท ที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18%

โดยกลุ่มเกษตรกรจาก จ.ชุมพร ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคาผลปาล์มดิบที่เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 18% ควรจะขายได้ที่ 3.40 บาทตามราคาแนะนำ แต่โรงงานกลับรวมตัวกันรับซื้อที่ กก.ละ 3.10 บาท ซึ่งกรมการค้าภายในก็ไม่เคยเข้าไปดูแล และพอเกษตรกรนำผลผลิตไปขาย ก็ไม่สามารถขายในราคาที่กำหนดได้ เพราะจะถูกโรงงานหักเปอร์เซ็นต์น้ำมันลงไปอีก ส่วนใหญ่แม้เปอร์เซ็นต์น้ำมันจะเกิน 18% บางรายทำได้สูงถึง 20% แต่ก็จะถูกกดเหลือแค่ 17% ทำให้ขายได้เฉลี่ยกก.ละ 2.80-2.90 บาทเท่านั้น ถือเป็นการเอาเปรียบเกษตรกร และยังพบว่าโรงงานในพื้นที่ ก็ใช้วิธีในการรับซื้อเหมือนกันทุกโรงงาน คือ ขึ้นป้ายแสดงราคาไว้ แต่เกษตรกรไม่สามารถขายได้ราคาตามป้าย

นอกจากนี้ ยังพบว่าการเร่งระบายสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบก็เป็นไปด้วยความล่าช้า โดยในเดือนมี.ค.2561 มีการส่งออกได้แค่ปริมาณ 4.56 หมื่นตัน ลดลงจากการส่งออกในเดือนก.พ. ที่มีปริมาณส่งออก 5.5 หมื่นตัน และเดือนม.ค.ส่งออก 8.64 หมื่นตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศก็ลดลง โดยเดือนมี.ค.ใช้เพื่อการบริโภคและอุตสาหกรรมอื่นๆ ปริมาณ 1 แสนตัน ลดลงจากเดือนก.พ.ที่มีปริมาณการใช้ 1.12 แสนตัน และเดือนม.ค.มีการใช้ 1.23 แสนตัน ส่วนการใช้เพื่อไบโอดีเซลเดือนมี.ค.มีปริมาณ 9.88 หมื่นตัน เพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.ที่มีปริมาณการใช้ผลิตไบโอดีเซลปริมาณ 9.19 หมื่นตัน ส่วนเดือนม.ค.มีการใช้น้ำมันดิบผลิตไบโอดีเซลปริมาณ 9.85 หมื่นตัน

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการตลาด กำลังจะประชุมเพื่อหามาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยมีมาตรการที่จะเสนอ เช่น การช่วยชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร การช่วยลดต้นทุนการผลิต การโค่นปาล์มแก่ และการเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อผลักดันให้มีการส่งออกได้มากขึ้น ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้ว ก็จะนำเสนอให้คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) พิจารณาต่อไป

ที่มา  :  ประชาชาติธุรกิจ