ผู้นำเข้าอินเดียแห่ซื้อผลไม้ไทย ทั้ง “มังคุด-เงาะ-ลำไย-ฝรั่ง-มะขามหวาน-มะพร้าวอ่อน” ทำยอดพุ่งกว่า 60% เผยอุปสรรคใหญ่ซัพพลายเออร์-เกษตรกรไทยไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ จี้หาทางแก้ไขเร่งด่วน
นางจิตตรา ปัญญาชัย เจ้าของและผู้จัดการ บริษัท มาตาโปรดักส์ จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงกรณีที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้จัดกิจกรรมจับคู่เจรจาธุรกิจระหว่างผู้นำเข้าผลไม้รายใหญ่ จำนวน 12 บริษัท กับผู้ประกอบการของไทยในจังหวัดตราด จันทบุรี และภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคกลางจำนวน 20 บริษัท ว่า บริษัทมาตาเปิดตัวบริษัททำธุรกิจรับซื้อผลไม้สดและผลไม้แปรรูปส่งออกมา 5 ปี ที่ผ่านมาได้ส่งผลไม้เข้ากรุงนิวเดลีอยู่แล้ว และการเจรจาครั้งนี้ได้ลูกค้าจากเมืองมุมไบเพิ่มขึ้น เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดผลไม้อินเดียเติบโตอย่างรวดเร็ว เพิ่มจาก 30% เป็น 60% โดยผลไม้สดที่ได้รับความนิยม เช่น มังคุด เงาะ ลำไย ฝรั่ง มะขามหวาน มะพร้าวอ่อน
นายสันใจ อโรร่า (Sanjay Arora) ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท IG Internationnal Pvt. จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีศูนย์กระจายผลไม้ในเมืองใหญ่ ๆ 16 เมืองที่นำเข้าผลไม้ร่วม 10 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นแอปเปิล แพร์ และผลไม้อื่น ๆ กีวี องุ่น เชอร์รี่ อโวคาโด ส้ม พลัม บลูเบอร์รี่ ส่วนไทยนำเข้ามะขามหวาน โดยอินเดียไม่มีผลไม้บริโภคตลอดทั้งปีเหมือนประเทศไทย ช่วงที่มีผลไม้หลากหลายชนิดมากคือ เดือนสิงหาคม-กุมภาพันธ์ และช่วงที่ผลไม้น้อยส่วนใหญ่คือเดือนมีนาคม-กรกฎาคม จะมีเพียงมะม่วงบริโภค จึงต้องการนำเข้าผลไม้ไทย โดยผลไม้ที่สนใจคือมังคุด เงาะ ลำไย ระยะแรกจะสั่งมังคุดสด สัปดาห์ละ 1,500 กิโลกรัม ส่งทางเครื่องบิน 2 ครั้ง/สัปดาห์ ราคาขายในอินเดียจะสูงกว่าไทย 120-130% ถ้าราคามังคุดไทยกิโลกรัมละ 70-80 บาท จะขายประมาณ 200 บาท ข้อดีผลไม้ไทยบางอย่างเสียภาษีน้อยกว่า นางสาวริยา กูเซน (RIYA GUSAIN) ผู้จัดการฝ่ายนำเข้า บริษัท DEV BHUMI COLD CHAIN จำกัด กล่าวว่า สนใจสั่งซื้อผลไม้ไทย 4-5 อย่าง คือ ลำไย มังคุด เงาะ ฝรั่ง มะขามหวาน รวมทั้งสับปะรด มะม่วงและมังคุดอบแห้ง ซึ่งบริษัทนำเข้าอยู่แล้วในรูปของผลสด ครั้งนี้ต้องการทดลองตลาดผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ประเภทผลไม้อบแห้ง ที่ผ่านมามีการเจรจาจับคู่ธุรกิจการค้าทำการตลาดผลไม้กับไทย แต่ปัญหาคือเมื่อแลกนามบัตรกันแล้วติดต่อกลับมา ซัพพลายเออร์ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษหรือตอบคำถามให้ชัดเจนได้ ทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าได้ ปัญหาตรงนี้ต้องการให้มีการแก้ไข
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ปรึกษาศึกษาความต้องการสินค้าเกษตรและจับคู่เจรจาธุรกิจ โครงการส่งเสริมศักยภาพด้านการตลาดสินค้าเกษตรกล่าวว่า ได้เชิญผู้ประกอบการนำเข้ารายใหญ่ จากเมืองเศรษฐกิจหลัก 4 เมือง คือ กรุงนิวเดลี เมืองมุมไบ เชนไน กัลกัตตา มาพบผู้ประกอบการไทย โดยอินเดียมีความต้องการบริโภคผลไม้ 100 ล้านตัน/ปี แต่ผลิตได้เพียง 80 ล้านตัน/ปี จึงเป็นโอกาสของผลไม้ไทย แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งทำคือ 1) รุกการทำประชาสัมพันธ์ให้รู้จักการบริโภคผลไม้สด-แปรรูป 2) ปัญหาผู้ผลิตและเกษตรกรไทยไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษและเข้าไม่ถึงการส่งออก 3) สร้างความมั่นใจตลาดอินเดียให้กับผู้ประกอบการไทย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ