ปล่อยแล้วตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังมณฑลยูนานของจีน จำนวน 14 ตู้ คาดว่าจะสร้างรายได้เข้าประเทศ 7,000 ล้านบาทต่อปี
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังพิธีปล่อยตู้คอนเทนเนอร์บรรจุผลิตภัณฑ์สัตว์ปีกเที่ยวปฐมฤกษ์ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ ด่านท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน (ท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2) ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ว่า จากเดิมประเทศไทยเคยส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกและผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกปรุงสุกไปยังประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างต่อเนื่อง แต่ได้หยุดส่งออกเนื่องจากการเกิดโรคไข้หวัดนกระบาด ในช่วงต้นปี 2547
กระทั่งในปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายสนับสนุนการส่งออกสินค้าปศุสัตว์และเร่งผลักดันการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไปยังตลาดแห่งใหม่ กรมปศุสัตว์จึงเชิญคณะเจ้าหน้าที่จากจีนมาไทย เพื่อทำการตรวจสอบระบบการกำกับดูแลผลิตเนื้อสัตว์ปีกของไทย และตรวจสอบโรงงานเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออก จำนวน 19 แห่ง เมื่อวันที่ 3 – 11 กรกฎาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งหลังการตรวจสอบเสร็จสิ้นฝ่ายจีนมีความพึงพอใจเป็นอย่างมาก จนนำไปสู่การร่วมจัดทำพิธีสาส์นว่าด้วยเงื่อนไขหลักเกณฑ์การตรวจสอบ การกักกัน และสุขอนามัยในการนำเข้าไก่แช่แข็งและชิ้นส่วนไก่จากราชอาณาจักรไทยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างสำนักงานกำกับการควบคุมคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันแห่งชาติ (AQSIQ) ของจีน และกรมปศุสัตว์ของไทย
“การที่จีนเปิดนำเข้าเนื้อไก่และชิ้นส่วนไก่ของไทย ถือเป็นโอกาสที่สำคัญยิ่งของอุตสาหกรรมไก่เนื้อและผู้ประกอบการไทย ซึ่งไทยมีความได้เปรียบประเทศคู่แข่งอื่น ๆ หลายด้าน ทั้งในเรื่องมาตรฐานการผลิตที่อยู่ในระดับสากล มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดกระบวนการผลิต ที่สำคัญด้วยระยะทางที่ใกล้กัน จึงส่งผลดีต่อการส่งออก ซึ่งจะทำให้ยอดการส่งออกเนื้อไก่เพิ่มขึ้น โดยการส่งออกจะผ่านที่ด่านท่าเรือเมืองกวนเหล่ย มณฑลยูนาน มีเป้าหมายส่งสินค้าสู่จีนตอนใต้เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การที่ไทยสามารถส่งไก่ได้ในครั้งนี้จะทำให้ราคาไก่สูงขึ้น เพราะจีนเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าของไทย โดยการปล่อยตู้คอนเทรนเนอร์ในครั้งนี้เป็นล็อตแรก มีจำนวน 14 ตู้คอนเทรนเนอร์ มูลค่าราว 35’ภ ล้านบาท และจะมีการส่งออกอย่างต่อเนื่องต่อไป” นายนิวัฒน์ กล่าว
ด้าน นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการที่จีนมาตรวจสอบระบบการกำกับดูแลผลิตเนื้อสัตว์ปีกของไทย และตรวจสอบโรงงานเชือดสัตว์ปีกเพื่อการส่งออกของไทยนั้น สำนักงานการขึ้นทะเบียนหรือรับรองแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนหรือ CNCA จึงได้ประกาศรับรองให้โรงงานผลิตและแปรรูปเนื้อไก่ของไทย จำนวน 7 โรงงาน ได้แก่ 1) โรงงานที่ จ.นครราชสีมาของ CPF 2) โรงงานที่สระบุรี ของ CPF 3) โรงงานสุพรรณบุรี ของ F&F Food 4) โรงงานที่เทพารักษ์ บางเสาธง จ.สมุทรสาคร ของ GFPT 5) โรงงานที่ชัยบาดาล จ. ลพบุรี ของบริษัทสหฟาร์ม จำกัด 6) โรงงานที่ จ.เพชรบูรณ์ ของ Goldenline และ 7) โรงงานที่ปราจีนบุรี ของ Thai Foods Group. สามารถส่งออกเนื้อไก่ไปสู่ผู้บริโภคชาวจีนได้ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ มีความต้องการบริโภคเนื้อไก่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าที่เป็น By Product อาทิ เครื่องในและเท้าไก่ เป็นต้น
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ ประเมินว่าการส่งออกของทั้ง 7 โรงงานนี้ จะสร้างรายได้ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อปี แต่ถ้าจีนรับรองโรงงานครบทั้ง 19 แห่งที่ได้เข้ามาตรวจสอบ จะสามารถสร้างรายได้ประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งภาคอุตสาหกรรมไก่ของไทยมีความพร้อมอย่างมากในการส่งออกเนื้อไก่ไปทั้งตลาดจีนและตลาดอื่น ๆ ของโลก