นายกฤษฏา บุญราช พร้อมนายลักษณ์ วจนานวัช รมช.กษ.นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัด กษ. อธิบดีกรมวิชาการเกษตร และ ผู้ว่าการยางแห่งประเทศไทย ประชุมร่วมกับผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ณ โรงแรม Intercontinental กรุงเทพฯ
ไทยชง 5 มาตรการต่อที่ประชุมร่วมกับ 4 เอกอัครราชทูตและผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกครั้งแรก “ไทย-มาเลเซีย- อินโดนีเซีย-เวียดนาม” เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตราคายาง “กฤษฎา”เผยอินโดนีเซียสนใจมาตรการลดกรีด 3 เดือนมากที่สุด
นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับเอกอัครราชทูตและผู้แทนจากประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลก ได้แก่ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม ร่วมประชุมหารือความร่วมมือด้านยางพารา เพื่อจะสร้างเสถียรภาพด้านราคา และพัฒนาอาชีพการทำสวนยาง ตลอดจนอุตสาหกรรมยางให้มีความมั่นคงและยั่งยืน ว่า การประชุในครั้งนี้ ถือเป็นการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานมาตรการควบคุมปริมาณการส่งออกยางพารา (AETS) ครั้งที่ 5 ภายใต้ข้อตกลงสภาไตรภาคียางพาราระหว่างประเทศ (ITRC) ประกอบด้วย ประเทศไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ครั้งนี้ได้เชิญเวียดนามด้วยเป็นครั้งแรก
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ทั้ง 3 ประเทศ ได้กำหนดการลดโควตาการส่งออกยางพาราร่วมกันของ 3 ประเทศสมาชิก ITRC จำนวน 350,000 ตัน ที่แก้ไขปัญหาราคายางในระยะสั้น ภายในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงสิ้นเดือนมีนาคม 2561 ซึ่งนับจากนี้ยังเหลือเวลาในการดำเนินมาตรการนี้อีกประมาณ 1 เดือน ในการควบคุมปริมาณยางในตลาดให้ลดลง ทั้งสามประเทศยืนยันที่จะดำเนินการอย่างเข้มงวดและจริงจังมากขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลให้ราคายางปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยของแต่ละประเทศซึ่งจะมีรายได้ที่สูงขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ การดำเนินการมาตรการนี้ ประเทศเวียดนาม ในฐานะประเทศผู้ผลิตยาง ยังช่วยสนับสนุนมาตรการครั้งนี้สัมฤทธิ์ผลควบคู่ด้วยดังกล่าวร่วมด้วย ซึ่งเวียดนามมีท่าทีอย่างไม่เป็นทางการในการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาไตรภาคียางระหว่างประเทศ (ITRC) ที่คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปลายปีนี้
สำหรับประเทศสำคัญที่ไทยนำเสนอในที่ประชุมครั้งนี้ คือมาตรการที่ไทยดำเนินการและระหว่างพิจารณารวม 5 มาตรการ คือ มาตรการและแนวทางอื่นในการสร้างเสถียรภาพราคายาง 1. มาตรการบริหารจัดการการผลิต โดยบริหารผลผลิตและความต้องการใช้ยางของแต่ละประเทศได้อย่างสมดุล โดยไทยนโยบายในการลดพื้นที่ปลูกยางในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมด้วยการโค่นยางเพื่อไปปลูกพืชอื่น ซึ่งจะจำกัดปริมาณผลผลิตให้มีความสมดุลกับความต้องการใช้ ปีละ 200,000 ไร่
[adrotate banner=”3″]
ในปี 2560 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกยาง 23.113 ล้านไร่ และคาดว่าในปี 2561 จากมาตรการนโยบายของรัฐบาล จะช่วยให้พื้นที่ปลูกยางในประเทศหายไปประมาณ 200,000 ไร่ จะเหลือเป็นพื้นที่ปลูกยางในประเทศไทย ประมาณ 22.913 ล้านไร่ 2. มาตรการการปลูกยางพาราร่วมกับพืชเศรษฐกิจอื่น 3. เพิ่มการใช้ยางในประเทศ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยปัจจุบันมีการรณรงค์ให้หน่วยงานภาครัฐ เพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อพัฒนาประเทศ และประโยชน์ต่อประชาชน อาทิ สระน้ำ ยางปูพื้น ถนนยางพารา เป็นต้น4. มาตรการหยุดกรีด ที่ไทยมีนโยบายให้พื้นที่ปลูกยางในหน่วยงานภาครัฐ ยกเว้นพื้นที่สวนยางที่ใช้ในการวิจัย หยุดกรีดยางเป็นระยะเวลา 3 เดือน ในระหว่าง ม.ค.-มี.ค. 2561 คิดเป็นพื้นที่ประมาณ 100,000 ไร่ เพื่อลดปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาด
นอกจากนี้ ไทยยังมีแนวคิดในการลดพื้นที่กรีดยาง 2 แนวทาง เพื่อลดปริมาณยางในตลาด ได้แก่ 1. หยุดกรีดยาง 3 ล้านไร่ เป็นระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค.61 คาดว่าจะลดปริมาณยางได้ประมาณ 200,000 ตัน 2. หยุดกรีดยางทุกไร่ แต่กรีดแบบวันเว้นวันหรือกรีดยาง 15 วัน หยุดกรีดยาง 15 วัน และ 5. มาตรการการควบคุมการผลิต-ราคายางพาราที่ปัจจุบัน ยางพาราของประเทศไทย เป็นสินค้าควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ปี 2542 โดยจะมีกระทรวงพาณิชย์เข้ามาดูกลไกราคายางพารา
ดังนั้น มีนโยบายในการจัดตั้งคณะกรรมการยางพาราควบคุมการผลิต-ราคายางพารา ซึ่งคณะกรรมการฯ จะประกอบด้วยผู้ที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่าย ได้แก่ ภาคราชการ เอกชน และชาวสวนยางพารา มีอำนาจหน้าที่ในการไปดูต้นทุนยางพารา ดูการผลิตยางว่าราคาใดเหมาะสมกับการรับซื้อ หรือราคาใดเหมาะสมกับการส่งออก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่เกษตรกร
อย่างไรก็ตาม สองมาตรการหลังนั้นไทยได้ขอให้ประเทศสมาชิกรับไปพิจารณา คือ มาตรการหยุดกรีดยาง และคณะกรรมการราคายางระหว่างประเทศ ซึ่งเบื้องต้นจากการหารือนั้นอินโดนีเซียสนใจมากที่สุดกับมาตรการขอความร่วมมือลดกรีดยางนี้ แต่ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกจะรับข้อเสนอของไทยไปพิจารณาเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป