“พิพัฒพงษ์ คันธี” ปั้นแบรนด์ “แม่อารักษ์” กล้วยแปรรูปโอท็อปเมืองหนองคาย

  •  
  •  
  •  
  •  

นโยบายสนับสนุนสินค้าโอท็อป (OTOP) เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากของภาครัฐถูกจัดลำดับความสำคัญไว้ในอันดับต้น ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดต่าง ๆ จึงหันมาส่งเสริมสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร ค่อนข้างได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างดี และ “กล้วยแปรรูปแม่อารักษ์” เป็นอีกหนึ่งแบรนด์โอท็อปจากชุมชน ที่ถูกพัฒนาให้เป็นที่รู้จักใน อ.สังคม จ.หนองคาย ปัจจุบันมี “พิพัฒพงษ์ คันธี” เป็นเสาหลักในการพัฒนาต่อจากคุณแม่ ที่รวมกลุ่มญาติ ๆ กับคนในชุมชนทำการแปรรูปกล้วยจำหน่ายในตลาดจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

ผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่โอท็อป

“พิพัฒพงษ์” ย้อนอดีตความเป็นมาถึงช่วงที่รับไม้ต่อโอท็อปผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูป ก่อนสานฝันปั้นแบรนด์ “แม่อารักษ์” เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมชมชอบจากลูกค้า จุดเริ่มต้นมาจากตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาช่วยงานคุณแม่ที่ป่วยจนไม่สามารถทำงานหนักได้ แม้ไม่มีความรู้ ไม่มีประสบการณ์ในอาชีพนี้มาก่อน เพราะหลังจากเรียนจบก็ทำงานเป็นกราฟิกดีไซน์มาตลอด อาศัยความขยัน เรียนรู้ และใจสู้ กว่าจะมายืนตรงนี้ได้ใช้เวลาประมาณ 4 ปี

เริ่มตั้งแต่การจัดการระบบธุรกิจ จนถึงการสร้างแบรนด์ ซึ่งเลือกใช้แบรนด์ตามคำเรียกขานของชาวบ้าน ที่เรียกคุณแม่ติดปากว่าแม่ของอารักษ์ ตามชื่อของพี่ชาย จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาแพ็กเกจจิ้งโดยใช้พื้นฐานทางด้านการตลาดและการออกแบบกราฟิกดีไซน์ที่ได้เรียนมา สร้างผลิตภัณฑ์เข้าไปคัดเลือกเป็นดาวโอท็อปอย่างจริงจัง ทำให้สินค้าแบรนด์แม่อารักษ์เติบโตอย่างรวดเร็ว

 “ผมลาออกจากงาน เปลี่ยนจากทำงานประจำของคนอื่น มาเป็นงานประจำของตัวเอง ตอนนี้มันกลายมาเป็นธุรกิจของเราแล้ว คิดอะไรได้ก็ทำเลย ส่วนคุณแม่ไม่สนใจเรื่องงานขายงานตลาด บอกว่าทำงานหนักทั้งวันยังไม่เหนื่อยเท่ากับขายของให้กับคนแค่ 3 คน ผมกับคุณแม่มีความชอบต่างกัน ผมเองก็ห้ามคุณแม่ไม่ได้ ทำได้เพียงให้เขาทำงานหนักอย่างมีความสุข กับระบบการจัดการทั้งหมดที่วางไว้ไม่ให้คุณแม่ลำบาก”

สำหรับโรงงานแปรรูปเวลานี้มีพื้นที่จำกัดไม่ถึง 1 ไร่ แยกออกเป็นสัดส่วน ตั้งแต่โรงเรือน โรงทอด โรงตาก โดยรวมมีเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน และอีกหลายหน่วยงานเข้ามาให้คำแนะนำ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถกระจายสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดได้ เพราะกระบวนการแปรรูปยังทำด้วยมือ ใช้การอบด้วยเตาถ่านจึงได้ผลิตภันฑ์ค่อนข้างช้า และมีกระแสของพืชเศรษฐกิจอย่างยางพาราเข้ามาแทนการปลูกกล้วย ทำให้ผลผลิตในบางช่วงไม่เพียงพอต่อการแปรรูป

รับอานิสงส์แหล่งท่องเที่ยว

“พิพัฒพงษ์” เล่าว่า ช่วงที่เริ่มเข้ามาทำธุรกิจกล้วยแปรรูปอย่างเต็มตัว บังเอิญโชคดีที่หน่วยงานใน จ.หนองคาย และหน่วยงานใน อ.สังคม กำลังทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยว ด้วยการสร้างจุดชมวิวสกายวอล์ก วัดผาตากเสื้อ แล้วกลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัด ถัดมาคือภูห้วยอีสัน ที่มีการทำข่าวโปรโมตอย่างต่อเนื่อง ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวไม่ขาดสาย เมื่อนักท่องเที่ยวมองหาของฝากในพื้นที่ก็จะเห็นกล้วยเป็นหลัก สืบเนื่องมาจาก 20-30 ปีก่อน ภูเขาทุกลูกในอำเภอปกคลุมด้วยต้นกล้วยกว่า 80-90% แทบไม่มีต้นยางพารา ต้นมะม่วง หรือไม้ผลอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปจึงกลายเป็นเอกลักษณ์ของ อ.สังคม ไปโดยปริยาย

ส่วนแบรนด์แม่อารักษ์ก็ใช้วัตถุดิบจากชาวบ้าน หมุนเวียนรายได้ให้ชุมชน โดดเด่นด้วยแพ็กเกจจิ้งที่มีความลงตัว เหมาะสมกับเป็นสินค้าโอท็อป เป็นของฝากที่ลูกค้าเอื้อมถึง ไม่หรูหราราคาแพงจนเกินไป รายได้กว่า 60-70% จึงมาจากนักท่องเที่ยว ที่นิยมซื้อผลิตภัณฑ์กล้วยแปรรูปไปเป็นของฝาก ส่วนใหญ่จะขายหน้าร้าน ไม่ขายผ่านตัวแทนจำหน่าย ราคาขายในรูปแบบที่มีแพ็กเกจจิ้งสำหรับเป็นของฝาก 35 บาท/ห่อ หรือขาย 3 ห่อ 100 บาท กับที่ขายแบบธรรมดาไม่มีแพ็กเกจจิ้งถุงละ 50 บาท

มุ่งพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ปัจจุบันแบรนด์แม่อารักษ์ได้กลายเป็นโปรดักต์ที่เป็นตัวแทนของจังหวัดไปแล้ว เป็น 1 ในสินค้าที่ช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะนอกจากจะเป็นของฝากนักท่องเที่ยวแล้ว หน่วยงาน

ต่าง ๆ ยังนำคณะกลุ่มแม่บ้านจากทั่วประเทศมาเรียนรู้กระบวนการทำกล้วยแปรรูปตลอดทั้งปี ซึ่งเดือนธันวาคม 2560 แบรนด์แม่อารักษ์ก็ได้รับรางวัล “อย. Quality Award 2018” (อย.ควอลิตี้ อะวอร์ด 2018 ระดับประเทศ) เป็นรางวัลการประกวดคุณภาพการผลิตสินค้า สถานประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

“ผมไม่คิดว่าจะมาไกลขนาดนี้ แต่การเติบโตของธุรกิจแม่อารักษ์ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่ และคนในครอบครัวทุกคน ทำให้ผมพร้อมที่จะพัฒนา ขยายการผลิต พัฒนาคุณภาพให้ดีขึ้นต่อไปในอนาคต ถ้าเรามีศักยภาพ รู้กำลังการผลิตอย่างชัดเจน จะขยายตลาดมากขึ้น เพราะคนฝั่งประเทศเพื่อนบ้านก็สนใจผลิตภัณฑ์และเข้ามาติดต่อ แต่ต้องปฏิเสธไป เพราะยังไม่พร้อม ระบบยังไม่มี แค่ขายหน้าร้านบางวันผลผลิตยังไม่พอ แผนในอนาคตคิดว่าไม่อยากให้เกิน 2 ปีจากนี้ไป ทุกอย่างน่าจะขยับขยายได้ ทั้งการผลิต การขยายตลาด”

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ