“กฤษฎา”สายตรง “คุณหมอปิยะสกล” ให้เร่งรัดส่งผลตรวจสอบสารเคมีเพื่อการเกษตร “พาราควอต” ไปยังกรมวิชาการเกษตร ระบุหากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนถึงอันตรายก็พร้อมยกเลิกทันที
รายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังจากที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อมด้วยนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประธานเปิดประชุมสัมมนา “การขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในระดับพื้นที่สู่การปฏิบัติ” ครั้งที่ 2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ณ วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น มื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 แล้วในช่วงเย็น นายกฤษฎา ได้หารือกับภาคเอกชนประกอบสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม 12 จังหวัดภาคอีสานตอนบน
ในที่ประชุมมีการหารือเรื่องภาคการเกษตร โดยเฉพาะปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาภาคการเกษตร ซึ่งปัจจุบันในพื้นที่ภาคอีสานประสบภัยธรรมชาติทั้งน้ำท่วม และภัยแล้ง นายทุนมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรเชิงเดียว ขณะที่เกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องของการสารเคมีที่ถูกต้อง
รายงานแจ้งอีกว่า ภายหลังเสร็จการประชุม นายกฤษฎา ได้ต่อสายตรงถึง น.พ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เร่งรัดส่งผลตรวจสอบทางการแพทย์ มายังกรมวิชาการเกษตร ที่ยืนยันว่าสารเคมีพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ว่าเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ และส่งผลเกิดโรคพาร์คินสัน อัลไซเมอร์ ที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอยกเลิกใช้สารเคมีดังกล่าวในปี 2562 หากมีหลักฐานทางการแพทย์ยืนยันชัดเจนถึงอันตรายก็พร้อมยกเลิกทันที
[adrotate banner=”3″]
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 29-7/2560 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 มีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาเอกสารทางวิชาการ รวมทั้งกำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต โดยกำหนดให้พิจารณาแล้วเสร็จ ภายใน 3 เดือน ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ ได้ขอความอนุเคราะห์กระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของข้อมูลหลักฐานทางการแพทย์เกี่ยวกับข้อกังวลในด้านความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายทั้ง 3 ชนิด ต่อสุขภาพของมนุษย์ตามข้อเสนอของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง และข้อเสนอแนะของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง เพื่อที่กระทรวงเกษตรฯ จะได้ส่งข้อมูลดังกล่าวเสนอคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจใช้ประกอบการพิจารณากำหนดมาตรการควบคุมวัตถุอันตรายพาราควอตไดคลอร์ไรด์ คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซตต่อไป