คิกออฟ “Field Day ปี 2561” แนะชาวสวนลำไยลดต้นทุน ทำนอกฤดู

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ คิกออฟ “Field Day ปี 2561” ที่เชียงราย เน้นถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง ใช้ตลาดนำการผลิต เน้นลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดูชี้เป้าหมายยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น

         นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ (Field Day) ปี 2561 ณ ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (เครือข่าย) ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ว่า กิจกรรมวันถ่ายทอดเทคโนโลยีและบริการทางการเกษตรเพื่อเริ่มต้นฤดูกาลผลิตใหม่ หรือ Field day จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เพื่อถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง” โดยเน้นการถ่ายทอดความรู้แบบเห็นของจริง ผ่านศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) เป็นศูนย์กลางแห่งการเรียนรู้ต่อเกษตรกร

      วัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกษตรกรเริ่มต้นการผลิตในปีการเพาะปลูกใหม่โดยใช้เทคโนโลยีและภูมิปัญญาที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ มีหน่วยงานต่างๆ ให้บริการด้านการเกษตรตามภารกิจเพื่อสนับสนุนเกษตรกร พร้อมเผยแพร่ให้เกษตรกรรู้จักและใช้ประโยชน์จาก ศพก. และศูนย์เครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันดำเนินการไปแล้วกว่า 650 ศพก. อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 232 แห่ง คาดว่าจะมีเกษตรกรเข้ามาร่วมงานกว่า 150,000 คน

          สำหรับการจัดงาน field day ณ ศพก. อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และส่งเสริมการผลิตลำไยนอกฤดู เนื่องจากสภาพปัญหาในพื้นที่ อ.ขุนตาล มีพื้นที่ปลูกลำไยมากกว่า 6,000 ไร่ โดย ต.ยางฮอม มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด เกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกลำไยตามฤดูกาล ซึ่งให้ผลผลิตเพียงปีละ 1 ครั้ง (ช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคม) ผลผลิตลำไยออกพร้อมกัน ทำให้ราคาถูก พ่อค้าคนกลางกดราคา ไม่สามารถต่อรองราคากับพ่อค้าได้ ประกอบกับเกษตรกรขาดความรู้เกี่ยวกับการจัดการในสวนลำไย การผลิตลำไยนอกฤดู การแปรรูปผลผลิตลำไย ทำให้ไม่สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่ายได้

         อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกบนภูเขา ไม่มีเอกสารที่ดิน ขาดระบบน้ำในแปลงปลูก ทำให้ได้ผลผลิตค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมแนวทางในการปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนาทางการเกษตร อาทิ 1) การลดการใช้สารเคมีโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ และสารชีวภัณฑ์ 2) การขุดเจาะและสร้างระบบน้ำเพื่อใช้ในพื้นที่การเกษตร 

        3) การส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยนอกฤดู เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรเนื่องจากจำหน่ายได้ในราคาที่สูงกว่าลำไยตามฤดูกาล 4) การรวมกลุ่มแปลงใหญ่ลำไยเพื่อให้มีอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง หรือจำหน่ายให้กับแหล่งรับซื้อโดยตรง และ5) การพัฒนาให้เกษตรกรผลิตลำไยช่อเพื่อส่งออกไปต่างประเทศ เป็นต้น

[adrotate banner=”3″]

         สำหรับการเตรียมฤดูกาลผลิตใหม่ กระทรวงเกษตรฯ เน้นนโยบายการตลาดนำการผลิต โดยการควบคุมคุณภาพ 
โดยมี ศพก. และ ระบบส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการ มีเป้าหมายในการยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยมีการดำเนินงานตามนโยบายกระทรวงฯ เช่น ศพก. แปลงใหญ่ เกษตรทฤษฎีใหม่ Zoning by Agri – MAP เป็นต้น ซึ่งนโยบายเหล่านี้จะใช้ ศพก. เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน และ ศพก. จะเป็นสถานที่เรียนรู้ นำไปสู่การผลิตร่วมกันแบบแปลงใหญ่ โดยอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย และในส่วนภูมิภาค

        “กระทรวงเกษตรฯ มีนโยบายให้จังหวัดดำเนินการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ฤดูกาลผลิตใหม่ ปี 60/61 โดยให้หน่วยงานในสังกัด บูรณาการการทำงานร่วมกันในการสนับสนุนเกษตรกรให้มีองค์ความรู้เพื่อวางแผนการผลิต เข้าถึงปัจจัยการผลิต บริหารจัดการความเสี่ยง และสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร” นายเลิศวิโรจน์ กล่าว.