อย่างมองข้าม “เปลือกทุเรียน” ผลิตอาหารสัตว์คุณภาพสูง มีโปรตีนมากกว่าข้าวโพต ต้นทุนต่ำ แทนทดแทนอาหารหยาบ-ข้นได้เลย

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ ท้าพิสูจน์อาหารสัตว์จากเปลือกทุเรียนหมักอินทรีย์ ของวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดี ปากน้ำโพ พบมีปริมาณสารอาหารสูง ทั้งเยื่อใย ไขมัน โปรตีน สามารถใช้ทดแทนอาหารหยาบและอาหารข้นได้เลย ระบุมีโปรตีนสูงกว่าข้าวโพดขนาดต้นทุนการผลิตเพียง กก.ละ 1.7 บาทเท่านั้น 

นายชายศักดิ์ วุฒิศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 12 นครสวรรค์ (สศท.12) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า ทาง สศท.12 ได้ศึกษาการเลี้ยงโคเนื้อมาตรฐาน GAP โดยติดตามการดำเนินงานของวิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดี ปากน้ำโพ ตำบลพระนอน อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ เป็นวิสาหกิจชุมชนต้นแบบที่ขับเคลื่อน การดำเนินงานภายใต้ BCG Model โดยนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ผลิตอาหารเลี้ยงโคเนื้อจากเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตร เช่น เปลือกทุเรียน ฟางข้าว และเศษอ้อย ผ่านกระบวนการหมักจุลินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ เพื่อลดต้นทุนการผลิตและรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม ฟาร์มโคพันธุ์ดี ปากน้ำโพ  เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2561 โดยมีนางวิยะดา  ธีระราษฎร์ เป็นประธาน และดร.นิติพล พลสา นักวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชนเพียวพลัสฟาร์ม และนายภูชิต มิ่งขวัญ เป็นผู้ประสานงานวิสาหกิจฯ มีสมาชิกเกษตรกร 17 ราย ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะทำการเกษตรอื่นเป็นหลัก แต่ก็ได้เข้ามา มีส่วนร่วมและเรียนรู้กระบวนการผลิตกับวิสาหกิจฯ อย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันวิสาหกิจฯ มีพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงโคเนื้อ จำนวน 5 ไร่  มีโคเนื้อ จำนวน 50 ตัว ซึ่งวิสาหกิจฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) เพื่อทำการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลาสมาพลังงานต่ำ ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ ทำให้ได้อาหารสัตว์หมักจุลินทรีย์ที่มีคุณภาพสูงและเพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานสถานศึกษา และหน่วยงานภาครัฐเพื่อศึกษานวัตกรรมอื่น ๆ เช่น มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ กรมส่งเสริมการเกษตร เป็นต้น

สำหรับเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่วิสาหกิจฯ เลือกใช้เป็นหลักคือ เปลือกทุเรียน เนื่องจากมีปริมาณสารอาหารสูง โดยเฉพาะเยื่อใย ไขมัน โปรตีน ใช้ทดแทนอาหารหยาบและอาหารข้นได้ ซึ่งวิสาหกิจฯ จะนำเปลือกทุเรียนมาผลิตอาหาร เลี้ยงโคเนื้อในช่วงที่ผลผลิตทุเรียนออกสู่ตลาด ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ – สิงหาคมของทุกปี ซึ่งจะมีเปลือกทุเรียนเหลือทิ้งจำนวนมากในแต่ละวัน เพื่อลดปริมาณขยะและเพิ่มคุณค่าทางการเกษตร ทางวิสาหกิจฯ ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมเปลือกทุเรียนที่เหลือใช้จากผู้ขายทุเรียนในพื้นที่เขตอำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ในปริมาณเฉลี่ย 60 – 80 ตัน/ปี

โดยต้นทุนการผลิตอาหารโคเนื้อจากเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.7 บาท/กิโลกรัม ประกอบด้วย ค่าน้ำมันรถเก็บเปลือกทุเรียน ค่าน้ำมันเครื่องจักร ค่าจุลินทรีย์ ค่าแรงงานบดสับ และค่าเสื่อมอุปกรณ์ โรงเรือน เครื่องจักร และถังหมัก หากเปรียบเทียบกับอาหารหยาบทั่วไปที่ทำจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จะมีทุนการผลิตเฉลี่ย 2 บาท/กิโลกรัม ซึ่งจะเห็นได้ว่าอาหารที่ผลิตจากเปลือกทุเรียนสามารถช่วยลดต้นทุนได้ร้อยละ 15 โดยโค 1 ตัวจะบริโภคประมาณ 30 กิโลกรัม/ตัว/วัน ทั้งนี้

นอกจากจะลดต้นทุนการผลิตแล้ว อาหารที่ผลิตจากเปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์ ยังมีปริมาณสารอาหารที่ใกล้เคียงกับอาหารหยาบและอาหารข้น  สามารถใช้ทดแทนกันได้ ซึ่งหากเทียบสัดส่วนสารอาหาร พบว่า เปลือกทุเรียนหมักจุลินทรีย์มีโปรตีน ร้อยละ 8.42 มากกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีโปรตีน ร้อยละ 8.20 ในขณะที่เปลือกทุเรียนมีไขมัน พลังงาน และเยื่อใยสูง ซึ่งไม่พบในข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยไขมัน พลังงาน และเยื่อใยมีส่วนช่วยทำให้โคมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วไป

 ในส่วนกระบวนการหมักนั้นจะเริ่มจากการคัดแยกสิ่งปะปนออกจากเปลือกทุเรียน เสร็จแล้วลำเลียงสู่กระบวนการสับโดยใช้เครื่องสับหั่นเป็นชิ้นเล็กให้เหมาะแก่การบริโภคของวัว หลังจากนั้นจึงบรรจุลงในภาชนะหมักราดด้วยหัวเชื้อจุลินทรีย์ที่ผ่านการปรับปรุงพันธุกรรมด้วยเทคนิคพลาสมาพลังงานต่ำเป็นเวลา 7 วันจึงสามารถใช้เป็นอาหารโคได้

ทั้งนี้ จากผลสำเร็จการขับเคลื่อนภายใต้ BCG Model อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้วิสาหกิจฯ ได้รับรางวัลการประกวดแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรดีเด่น จากสำนักงานเกษตรจังหวัดนครสวรรค์ ในปี พ.ศ. 2565 รางวัลสาขานักธุรกิจนวัตกรรมจากการประกวด NSP Innovation awards 2022 จากอุทยานวิทยานศาสตร์ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2565

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต วิสาหกิจฯ มีแนวทางจะพัฒนาฟาร์มให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนมากขึ้น อาทิ ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรในชุมชนให้มีความรู้และเครื่องมือในการผลิตสินค้าเกษตรที่ได้มาตรฐานอินทรีย์ และยังมีการดำเนินการพัฒนารูปแบบฟาร์มให้มีความยั่งยืนภายใต้โครงการโคกหนองนา โมเดล พันเพียร เคียงฝัน   ซึ่งเป็นการจัดการพื้นที่โดยใช้หลักการเกษตรธรรมชาติ เพื่อสร้างความสมดุลของระบบนิเวศและส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร หากท่านที่สนใจเข้าชมฟาร์มหรือศึกษาดูงานสามารถติดต่อได้ที่ คุณภูชิต มิ่งขวัญ ฝ่ายประสานงานวิสาหกิจ โทร 09 1859 4560