พื้นฐานเดียวกัน คือ CRISPR เพื่อความยั่งยืน

โดย…ดร.นิพนธ์  เอี่ยมสุภาษิต

          วันนี้เป็นตอนสุดท้ายของบทความที่เขียนโดย Rebecca Mackelprang ซึ่งเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอก (postdoctoral scholar) ที่ University of California, Berkeley สหรัฐอเมริกา ในเรื่องเกี่ยวกับ “พื้นฐานเดียวกัน คือ CRISPR” เพื่อความยั่งยืนซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

         ในช่วงหกปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ CRISPR ได้ถูกใช้ในการแก้ไขจีโนม นักวิชาการ สตาร์ทอัพและ บริษัทที่จัดตั้งขึ้น ได้ประกาศพันธุ์พืชใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพจากการใช้เทคโนโลยีนี้ บางพันธุ์มุ่งเน้นไปที่ลักษณะเพื่อสุขภาพของผู้บริโภค เช่น ข้าวสาลีที่มีกลูเตนต่ำ หรือปราศจากกลูเตน สำหรับผู้ที่เป็นโรค celiac (โรคที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อกลูเตน) ชนิดพันธุ์อื่น ๆ เช่น เห็ดที่ไม่มีสีน้ำตาล ทำให้สามารถลดเศษอาหารเหลือทิ้งได้

          ความแห้งแล้งในรัฐแคลิฟอร์เนียที่ยืดเยื้อเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุ์พืชที่ใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ข้าวโพดที่ให้ผลผลิตมากขึ้นภายใต้ความเครียดจากความแห้งแล้ง ได้รับการพัฒนาขึ้นโดยใช้ CRISPR และก่อนหน้านี้ก็มี มะเขือเทศต้านทานโรคราแป้ง สามารถประหยัดเงินได้หลายพันล้านดอลลาร์จากการเลิกพ่นสารป้องกันกำจัดเชื้อรา มะเขือเทศที่ออกดอกและติดผลเร็ว ที่สามารถใช้เพาะปลูกได้ในละติจูดตอนเหนือที่มีวันยาวและฤดูการปลูกที่สั้น ซึ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง

         ในปี 2559 และ 2560 คณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (U.S. National Organic Standards Board – NOSB) ได้ลงมติให้ไม่รวมพืชที่ได้มาจากการแก้ไขยีน/จีโนม จากการรับรองเกษตรอินทรีย์ นั่นก็หมายความว่าต้องไม่ใช้พืชที่มาจากการแก้ไขยีน/จีโนมในการรับรองเกษตรอินทรีย์

         แต่ในมุมมองของ Rebecca Mackelprang เธอคิดว่าพวกเขาควรพิจารณาใหม่ ด้วยเห็นว่า จากการสัมภาษณ์เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์บางราย ที่เห็นด้วยกับ Rebecca Mackelprang เช่น Tom Willey ได้กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน CRIPSR อาจเป็นประโยชน์สำหรับกระบวนการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม ที่ใช้เวลาหลายปีโดยทำให้สั้นลง และแม้ว่าในขณะที่ปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้อย่างสมบูรณ์โดยการแก้ไขจีโนม แต่ก็สามารถให้โอกาสเข้าถึงจีโนมของบรรพบุรุษของพืชป่าที่ได้หายไป เพื่อใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อให้ได้ผลผลิตสูง

       Tom Willey ยังกล่าวอีกว่า นักปรับปรุงพันธุ์ได้ประสบความสำเร็จจากการใช้วิธีการปรับปรุงพันธุ์แบบดั้งเดิม เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชป่าดังกล่าวได้สำเร็จ แต่ในแง่ของความเร่งด่วนที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เราต้องใช้ CRISPR อย่างชาญฉลาดเพื่อเร่งการทำงานดังกล่าว

        Bill Tracy ผู้ปลูกพันธุ์ข้าวโพดออร์แกนิก และเป็นศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซินแมดิสัน (University of Wisconsin–Madison) กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลายครั้งจาก CRISPR ที่อาจเกิดขึ้นเองในธรรมชาติ อาจส่งผลดีต่อเกษตรกรทุกคน แต่คณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ได้ลงมติในประเด็นนี้แล้ว และคงยากที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีแรงกดดันอย่างมีนัยสำคัญ คำถามคือว่า จะมีแรงกดดันทางสังคมใดที่สามารถกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในมติดังกล่าว

         การอภิปรายของผู้คนจากทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพ ต้องการให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม การแก้ปัญหาร่วมกันโดยผู้ทำเกษตรอินทรีย์ และผู้ทำเกษตรปกติ ผู้เชี่ยวชาญในการเกษตรแบบยั่งยืน นักเทคโนโลยีชีวภาพและผู้กำหนดนโยบาย จะมีความก้าวหน้ามากกว่าการแก้ปัญหาโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อุปสรรคในเรื่องนี้อาจดูใหญ่ แต่มันเป็นสิ่งที่เราสร้างกันขึ้นมาเอง หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้คนจำนวนมากจะมีความกล้าที่จะนำเรื่องนี้กลับมาพูดคุยกันต่อไป

        ครับ บทสรุปในเรื่องนี้ พอชี้ให้เห็นว่า CRISPR สามารถสร้างความยั่งยืนทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการทำการเกษตรแบบปกติ หรือการทำเกษตรอินทรีย์ แต่การปฏิเสธของคณะกรรมการมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ก็ทำให้เกษตรกรผู้ทำเกษตรอินทรีย์บางรายไม่เห็นด้วย ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อการยอมรับสำหรับการรับรองเกษตรอินทรีย์

         อ่านบทความทั้งหมดของ Rebecca Mackelprang ได้จาก https://theconversation.com/organic-farming-with-gene-editing-an-oxymoron-or-a-tool-for-sustainable-agriculture-101585