กรมหม่อนไหม แจ้งเตือนการป้องกันต้นหม่อนจากเพลี้ยไฟพร้อมแนะวิธีป้องกัน-กำจัด

กรมหม่อนไหม แจ้งเตือนการป้องกันต้นหม่อนจากเพลี้ยไฟ แนะให้เกษตรกรสำรวจแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ ไถพรวนดินในแปลงหม่อน เพื่อกำจัดวัชพืช ที่เป็นแหล่งขยายพันธุ์และหลบซ่อนของวายร้าย ระบุหากพบการระบาด ให้กำจัดโดยการตัดแต่งกิ่งหม่อน ทั้งตัดกลางและตัดต่ำ จะช่วยตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยไฟไม่ให้มีที่วางไข่

พันจ่าเอก ประเสริฐ มาลัย อธิบดีกรมหม่อนไหม แจ้งเตือนเกษตรกรว่า ให้ป้องกันต้นหม่อนจากเพลี้ยไฟ โดยให้เกษตรกรสำรวจแปลงหม่อนอย่างสม่ำเสมอ ไถพรวนดินในแปลงหม่อน เพื่อกำจัดวัชพืช ซึ่งเป็นแหล่งขยายพันธุ์และหลบซ่อนของเพลี้ยไฟ หากพบการระบาดของเพลี้ยไฟ ให้กำจัดโดยการตัดแต่งกิ่งหม่อน ทั้งตัดกลางและตัดต่ำ จะช่วยตัดวงจรชีวิตของเพลี้ยไฟไม่ให้มีที่วางไข่

รวมทั้งใช้กับดักแสงไฟล่อแมลง เพื่อดึงดูดตัวเต็มวัยเพลี้ยไฟให้มาติดในกับดัก หรือใช้น้ำฉีดพ่นบริเวณใต้ใบ เพื่อให้ตัวอ่อนหล่นออกจากใบ อาจใช้ใบกระเพราหรือใบโหระพา น้ำหนัก 1 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน กรองเอากากออก นำน้ำหมักไปฉีดพ่นในแปลงหม่อน รวมทั้ง การอนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงหม่อน เช่น ด้วงเต่าลาย เป็นต้น เท่านี้ก็ลดความเสียหายจากเพลี้ยไฟได้

อย่างไรก็ตาม ถ้าพบการระบาดรุนแรงมาก จําเป็นต้องใช้สารเคมี ให้ใช้สารเคมีฉีดพ่น ได้แก่ ไดเมทโธเอท ในอัตรา 30 – 40 ซีซีต่อนํ้า 20 ลิตร เนื่องจากสารเคมีประเภทนี้มีพิษตกค้างในใบหม่อนนานไม่น้อยกว่า 20 วัน จึงควรเก็บใบหม่อนไปเลี้ยงไหม หลังพ่นสารเคมีไปแล้ว 30 – 35 วัน