กมธ.ทรัพย์ฯวุฒิสภา ระดมมันสมองถกแนวทางแก้ปัญหาฝุ่นpm 2.5 อดีต สว.อัดรัฐหลงประเด็น อัดงบฯกระจุกที่กรมป้องกันฯ

ชีวะภาพ ชีวะธรรม

กมธ.ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา ระดมมันสมองจากหลายภาคส่วน ถกหาแนวทางเดินหน้าปัญหาฝุ่น pm 2.5  อดีต สว. “ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ” ชี้ชัดรัฐหลงประเด็น มองฝุ่นขนาดจิ๋วเป็นปัญหาสาธารณภัย อัดงบฯกระจุกที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สลับซับซ้อน

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม สมาชิกวุฒิสภา ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาศึกษาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ใน กทม.และปริมณฑล โดยที่ประชุมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมประกอบด้วยนายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา ผู้อำนวยการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญด้านมลพิษอากาศและภูมิอากาศ , นายวิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย , ผศ.บุญส่ง ไข่เกษ อดีตสมาชิกวุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลเพื่อหาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหาที่ห้องประชุม CA 429 อาคารรัฐสภา

ผศ.บุญส่ง กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 แต่ขาดงบประมาณในการบูรณาการแก้ปัญหา โดยเฉพาะงบประมาณแก้ฝุ่น PM 2.5 ในปี พ.ศ.2567 กระจุกตัวสูงมาก มีหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดคือกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จำนวน 15,639.64 ล้านบาทจากงบประมาณแก้ฝุ่นทั้งหมด 17,529.98 ล้านบาท ซึ่งข้อมูลนี้สะท้อนแนวคิดของรัฐที่ยังเชื่อว่าปัญหา PM 2.5 เป็นปัญหาสาธารณภัย ทั้งที่ในความเป็นจริงเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่สลับซับซ้อน

ขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ช่วงนี้อากาศปิด ในทางวิชาการแก้ไม่ได้ แต่แจ้งให้ประชาชนเตรียมรับมือฝุ่น PM 2.5 ตนจึงเสนอให้หน่วยงานมีแผนทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องต้องลงมือดำเนินการโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องรอให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหรือให้ผู้ว่าฯซีอีโอสั่งการ แต่ต้องกำหนดภารกิจให้ผู้ว่าราชการจัดการ PM 2.5 อีกทั้ง อบจ.ต้องเข้ามาช่วยหน่วยงานท้องถิ่นแก้ฝุ่น

ด้านนายวิจารณ์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย อดีตปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เสนอว่า การแก้ PM 2.5 ในระยะยาวต้องมีความชัดเจน การเผาอ้อยต้องมีมาตรการเด็ดขาด และวางแผนให้ครบวงจรตั้งแต่ระบบการปลูก เครื่องจักรกลทางการเกษตร และโรงงานต้องจัดการให้ครบวงจรอย่างเป็นระบบ หลายคนเชื่อว่า หากพ.ร.บ.อากาศสะอาด มีผลบังคับใช้ก็น่าจะดีขึ้น

ทั้งนี้คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีข้อสังเกตว่า ต่อไปในอนาคตต้องมีเทคโนโลยีสุ่มตรวจจับโรงงานปล่อย PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน โดยอาจใช้โดรนบินตรวจจับโดยที่เจ้าของโรงงานไม่รู้ตัว ส่วนการพิจารณาศึกษา PM 2.5 จะต้องติดตามสถานการณ์ฝุ่นในพื้นที่ภาคเหนือที่อาจปะทุในช่วงมีนาคมนี้ ก่อนจัดทำข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลต่อไป