งัด 5 มาตรการแก้ปัญหาภัยแล้ง พร้อมแนะ 6 ขั้นตอนให้เกษตรกรดูแลสวนไม้ผลสู้ช่วงร้อนจัด

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมการเกษตร ออก 5 มาตรการเข้ม ให้ทุกจังหวัดลุยเต็มพิกัดในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยแล้ง พร้อมแนะ 6 ขั้นตอนให้เกษตรกรชาวสวนไม้ผล กรณีผลผลิตในสวนเสียหายจากการเผชิญเหตุปัญหาภัยแล้ง และความร้อน 

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากสถานการณ์อุณหภูมิสูงกว่าปกติอยู่ในขณะนี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตรออกปฏิบัติการร่วมกับทุกภาคส่วนในการติดตามแก้ไขปัญหา จึงได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดโดยเร่งด่วน เพื่อรับทราบสถานการณ์ในพื้นที่ล่าสุด พร้อมออกมาตรการเข้มเพื่อเผชิญเหตุ ดังนี้

1) ให้ศูนย์พิรุณราชทุกศูนย์เป็นศูนย์กลางการรับแจ้งข่าวสารและให้ความช่วยเหลือเกษตรกร,2) เจ้าหน้าที่ทุกหน่วยอยู่ประจำในพื้นที่ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และประสานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย,3) ประเมินสถานการณ์น้ำ อุณหภูมิ ชนิดพืช ระยะปลูก เพื่อพยากรณ์ข้อมูลพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบ โดยใช้ข้อมูลแผนที่ภาพถ่าย และเทคโนโลยีสารสนเทศต่าง ๆ,4) ชี้เป้า และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาน้ำเพื่อบรรเทาผลกระทบ และช่วยเหลือรักษาต้นพืชให้ผ่านช่วงแล้งไปให้ได้,และ
5) ผลิตสื่อประชาสัมพันธ์คำแนะนำการดูแลพืชแต่ละชนิด เผยแพร่ผ่านทุกช่องทางต่าง ๆ ให้เข้าถึงเกษตรกรทุกพื้นที่

พีรพันธ์ คอทอง

ทั้งนี้จากการประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานในสังกัดของกรมส่งเสริมการเกษตร ทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทำให้ได้เห็นถึงความมุ่งมั่น และร่วมมือร่วมใจกันของเจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วน ที่จะอยู่เคียงข้างเกษตรกร และเร่งดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่อประสานงาน อำนวยการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานผลการดำเนินงานของสำนักงานเกษตรจังหวัด อาทิ เกษตรจังหวัดชุมพรได้ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่อำเภอสวี และอำเภอท่าแซะ ซึ่งพบว่าน้ำในอ่างเก็บน้ำ และลำคลองสาธารณะแห้งขอด โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยชุมพร นำรถน้ำมาเติมช่วยบรรเทาเหตุน้ำไม่เพียงพอสำหรับอุปโภค บริโภค และการเกษตร ซึ่งส่งผลกระทบกับพื้นที่ปลูกทุเรียนของอำเภอท่าแซะ ในขณะที่เกษตรกรในอำเภอสวีไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากการทำฝายเล็กกั้นลำห้วยเป็นระยะและมีอ่างเก็บน้ำธรรมชาติสำหรับนำน้ำมาใช้ในการเกษตร

ด้านเกษตรจังหวัดบุรีรัมย์ได้ประสานงานลงพื้นที่สวนทุเรียนในอำเภอโนนสุวรรณ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยโครงการชลประทานบุรีรัมย์ได้นำรถน้ำมาช่วยบรรเทาเหตุ และได้แนะนำให้เกษตรกรใช้สปริงเกอร์ไปติดไว้บนต้นทุเรียน และเปิดช่วงเวลากลางวันเพื่อเป็นการระบายความร้อนและให้ความชื้นให้กับต้นทุเรียน และเกษตรจังหวัดอุทัยธานีได้ลงพื้นที่แก้ไขปัญหาภัยแล้งร่วมกับโครงการชลประทานอุทัยธานี ในพื้นที่อำเภอห้วยคต ซึ่งมีพื้นที่ปลูกทุเรียนประมาณ 70 ไร่ ต้นทุเรียนได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศร้อน ในเบื้องต้นโครงการชลประทานอุทัยธานีจะจัดหารถบรรทุกน้ำเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจนกว่าจะมีฝนตกในพื้นที่ต่อไป

สำหรับคำแนะนำสำหรับเกษตรกรชาวสวนไม้ผล กรณีผลผลิตในสวนเสียหายจากการเผชิญเหตุปัญหาภัยแล้งและความร้อน ดังนี้1. ใช้การคลุมดินร่วมกับระบบน้ำ ลดการสูญเสียน้ำจากการระเหยจากผิวหน้าดิน และเก็บน้ำไว้ในดินด้วยการคลุมดินโดยใช้เศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร เช่น ใบไม้ เศษหญ้า ฟางข้าว แกลบ ฯลฯ หรือหากใช้แผ่นพลาสติกคลุมดิน ต้องเลือกระบบน้ำให้เหมาะสม เช่น พลาสติกที่น้ำไม่สามารถซึมผ่านได้ ต้องใช้ระบบน้ำหยดใต้ผิวดิน เป็นต้น

2. ปลิดดอกและผลออกบางส่วนหรือทั้งหมดเพื่อลดภาระของต้น จะช่วยรักษาชีวิตของต้นไม้ผลไว้ได้ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำและอาหารจะลดลงอย่างมากหลังปลิดดอกและผลออก สามารถทนทานต่อสภาวะแล้งได้ยาวนานกว่าต้นที่มีผลติดอยู่บนต้น ซึ่งจะฟื้นตัวได้เร็วและให้ผลผลิตได้ในฤดูการผลิตปีต่อไป

3. ลดการให้ปุ๋ยหรือสารกระตุ้นการเจริญเติบโตของยอดและใบอ่อน ต้นพืชที่กำลังแตกยอดและใบอ่อนจะมีความต้องการใช้น้ำสูงกว่าพืชที่อยู่ในระยะใบแก่ และสารเหล่านี้จะไปกระตุ้นการแตกยอดของต้นไม้ผล ซึ่งหากน้ำไม่เพียงพอ จะส่งผลกระทบต่อความแข็งแรงของต้นและระบบรากอาจถึงตายได้

4. ฉีดพ่นอาหารเสริมบางชนิดเพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรง ในภาวะที่ต้องเผชิญแล้งเป็นเวลานาน หากมีอาการใบถอดสีหรือเปลี่ยนสี ควรให้การให้สารอาหารเสริม เช่น กรดอะมิโน น้ำตาลทางด่วน และน้ำหมักจากพืชผักผลไม้ หรือสัตว์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไม่ควรใช้หากใบยังเขียวสมบูรณ์ และไม่ควรใช้บ่อยเพราะจะเป็นการกระตุ้นการแตกยอดและใบอ่อน

5. จัดการวัชพืชตามฤดูกาล ตัดวัชพืชให้สั้นโดยให้สูงจากพื้นดินประมาณ 1 นิ้ว เพื่อลดระเหยน้ำ เศษต้นและใบหลังถูกตัดแล้วจะแห้งและกลายเป็นวัสดุคลุมดิน ช่วยรักษาความชื้นในสวน ส่วนรากที่ยังมีชีวิตทำหน้าที่ช่วยยึดเกาะน้ำในดิน ทำให้น้ำระเหยได้ช้าลง
6. ปรับเวลาการให้น้ำ ควรให้น้ำในช่วงเวลาเย็นเพื่อให้รากพืชมีเวลาในการดูดซับธาตุอาหารในดินไปใช้ และได้รับความชื้นนานเพียงพอในช่วงกลางคืน แทนที่จะระเหยไปอย่างรวดเร็วในเวลากลางวัน

อย่างไรก็ดี นอกเหนือจากการขาดน้ำที่เป็นปัญหาสำคัญในช่วงหน้าแล้งแล้ว ความร้อนที่พุ่งสูงขึ้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ต้นไม้ผลแสดงอาการขาดน้ำได้ การให้น้ำอย่างต่อเนื่องในปริมาณที่มากกว่าฤดูกาลปกติ และการลดอุณหภูมิของต้นไม้ผลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผลผลิตยังสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและลดความสูญเสียของผลผลิตลงได้ ซึ่งเกษตรกรอาจใช้ตาข่ายพรางแสงช่วยลดอุณหภูมิที่ต้นไม้ได้รับโดยตรงจากแสงแดด หรือหากยังเป็นต้นไม้ผลขนาดเล็ก อาจเลือกใช้วัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าว ทางปาล์ม ฯลฯ ในการพรางแสง แต่หากเป็นต้นขนาดใหญ่ อาจจำเป็นต้องใช้วิธีการลดอุณหภูมิในทรงพุ่มด้วยน้ำ โดยการต่อท่อติดมินิสปริงเกอร์สูงขึ้นไปในทรงพุ่ม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความชื้นในทรงพุ่ม ทำให้ต้นสดชื่นและผลผลิตได้คุณภาพดีอีกด้วย