มก. เปิดเวที “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิด “

  •  
  •  
  •  
  •  

 มก.เปิดเวที “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่


ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  เป็นประธานเปิดเวที  “เจาะลึกแนวทางการรับรองไม้ยืนต้น 58 ชนิด หลักประกันทางธุรกิจประเภทใหม่” เพื่อเป็นเวทีสื่อสาธารณะในการให้บริการทางวิชาการแก่ประชาชน เสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการออกและปรับปรุงกฎหมาย  ได้แก่ กฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ   และการปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง  เพื่อการแก้ไขให้ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม   เป็นการมุ่งส่งเสริมอำนวยความสะดวกให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเองมากขึ้น อีกทั้งต้นไม้ยังสามารถเป็นทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทางธุรกิจเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบการรายย่อยที่มีทุนน้อยเเละส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ช่วยลดภาวะโลกร้อน

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ รักษาการแทนอธิการบดี มก.  กล่าวเพิ่มเติมว่า ทางมก. มีการเรียนการสอนทางด้านป่าไม้ และได้ติดตามมติประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทรัพย์สินอื่นเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ  เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ยืนต้นมูลค่าสูงในที่ดินกรรมสิทธิ์เพื่อการออมและการสร้างมูลค่าของเศรษฐกิจ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะออกกฎกระทรวงตามมาตรา 8 (6) แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ที่บัญญัติให้หลักประกันได้แก่ ทรัพย์สินอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง เพื่อกำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เช่น ต้นไม้ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่าจำนวน 58 ชนิด สามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ อีกทั้ง   ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2561 ได้มีมติอนุมัติหลักการให้ปรับปรุง พ.ร.บ.ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 มาตรา 7 และมาตราอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ เพื่อการแก้ไขให้ไม้ทุกชนิดที่ปลูกในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม เป็นการอำนวยความสะดวกและส่งเสริมให้ประชาชนปลูกต้นไม้ และไม่ต้องได้รับการอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่

อย่าไรก็ตาม การดำเนินการออกและปรับปรุงกฎหมายดังกล่าวมีเจตนาที่มุ่งส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนปลูกต้นไม้ในที่ดินของตนเองมากขึ้น และยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอีกด้วย   เมื่อกฎกระทรวงและร่างพ.ร.บ. ที่มีการปรับปรุงดังกล่าวบังคับใช้ จะทำให้ต้นไม้ที่ปลูกในที่ดินของบุคคลต่าง ๆ 58 ชนิด (ตามบัญชีท้ายกฎหมายว่าด้วยสวนป่า) อาทิ ไม้สัก พะยูง ชิงชัน แดง เต็ง รัง ตะเคียน สะเดา นางพญาเสือโคร่ง ปีบ ตะแบกนา ไม้สกุลจำปี จามจุรี กัลปพฤกษ์ ราชพฤกษ์ มะขามป้อม หว้า กฤษณา ไม้หอม ไผ่ทุกชนิด ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลทุเรียน และมะขาม มีคุณค่าในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากเมื่อสามารถตัดไปขายได้ ก็เท่ากับรับประกันว่าจะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ในอนาคต และเมื่อยังไม่ตัด ต้นไม้ก็มีมูลค่านำไปเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ด้วย”