“ลักษณ์”ลุยพื้นพื้นที่แปดริ้วเก็บข้อมูลชง ครม.สัญจรเมืองจันท์

  •  
  •  
  •  
  •  

 

“ลักษณ์” ลงพื้นที่พบปะเกษตรกร กลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ กลุ่มวิวิสาหกิจชุมชน หวังเป็นข้อมุลนำเสนอเข้า ครม. สัญจรภาคตะวันออกที่ จ.จันทบุรีในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561นี้

            รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายลงพื้นที่ฝุ่นตลบเก็บข้อมูลเพื่อเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรภาคตะวันออกอย่างเป็นทางการในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 โดยเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2561ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองตาพลาย อ.สอยดาว จ.จันทบุรี

           

             อีกวันเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช ลงพื้นที่ไปตรวจตรวจเยี่ยมสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักแปลงใหญ่ปลอดภัยสูง ต.หนองยาว อ.พนมสารคาม และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษบ้านหนองว้า ต.บ้านซ่องเป็นต้น

            นายลักษณ์ กล่าวภายหลังลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ  จ.ฉะเชิงเทรา ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อพบปะเกษตรกรและรับทราบผลการดำเนินงานของเกษตรกรที่รวมตัวกันทำการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และนำเสนอข้อมูลเข้าในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรภาคตะวันออก ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้บูรณาการหน่วยงานในสังกัดเข้ามาช่วยในเรื่องการส่งเสริมการทำเกษตรแปลงใหญ่และการให้ความรู้ในเรื่องต่าง ๆ อีกทั้งยังบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)

     

           ทั้งนี้เพื่อการเข้ามาส่งเสริมการดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ในรูปแบบของการรวมกลุ่ม อย่างกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตผักแปลงใหญ่ปลอดภัยสูง ต.หนองยาว อ.พนมสารคาม และ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเห็ดและผักปลอดสารพิษบ้านหนองว้า ต.บ้านซ่อง มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง โดยมีเป้าหมายให้สมาชิกดำเนินการในด้านต่าง ๆ ทั้งการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิต เพิ่มคุณภาพสินค้าเกษตร อีกทั้งยังมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และมีตลาดรองรับที่แน่นอน

           “ในปี 2558 จังหวัดฉะเชิงเทราได้มีการดำเนินโครงการส่งเสริมการผลิตสินค้าปลอดภัยสูง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงส่งเสริมให้วิสาหกิจชุมชนในจังหวัดหันมาทำสินค้าเกษตรปลอดภัย โดยดำเนินการตามนโยบายตลาดนำการผลิต นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง โดยกระทรวงเกษตรฯ เข้ามาอบรมให้ความรู้และสนับสนุนเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ” นายลักษณ์ กล่าว

             รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องปัจจัยการผลิต โดยเฉพาะในเรื่องของทุน เพื่อให้กลุ่มเกษตรกรสามารถนำปัจจัยดังกล่าวไปดำเนินการขยายการดำเนินงานได้อย่างยั่งยืน เช่น โรงคัดแยกสินค้าที่มีคุณภาพ เพื่อคัดแยกสินค้าตามคุณภาพ และส่งไปตลาดที่มีความเหมาะสม และการพัฒนาสถานที่จัดการกระบวนการหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อเป็นจุดรวมผลผลิตที่มีมาตรฐานของกลุ่ม  และการพัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ของกลุ่มให้เป็นรูปแบบและมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรผลิตสินค้าเกษตรในระบบเกษตรปลอดสารพิษ (GAP) จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรด้วย

 

             นอกจากนี้ ยังได้ตรวจเยี่ยมสหกรณ์ชมรมชาวสวนมะม่วงจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่มุ่งเน้นการผลิตมะม่วงให้มีคุณภาพ ปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง โดยมีการรวมตัวกันอย่างจริงจังของสมาชิก และเริ่มมีการผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2541 ซึ่งสมาชิกของสหกรณ์ ประกอบด้วยเกษตรกรจาก 7 อำเภอ คือ พนมสารคาม แปลงยาว สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ ราชสาส์น บางคล้า และคลองเขื่อน ปัจจุบันมีสมาชิก 176 ราย มีพื้นที่ปลูกมะม่วง กว่า 10,000 ไร่ พันธุ์มะม่วงที่ปลูก ได้แก่ พันธุ์น้ำดอกไม้เบอร์ 4 น้ำดอกไม้สีทอง เขียวเสวย และพันธุ์อื่น ๆ มีผลผลิตประมาณ 7,000 ตัน/ปี

[adrotate banner=”3″]

            อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยมีแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและคุณภาพมาตรฐานสินค้าสู่มาตรฐานระดับสากล โดยใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและความรู้แบบองค์รวม อีกทั้งยังส่งเสริมการเกษตรตลอดโซ่อุปทานสอดคล้องกับความต้องการของตลาดและมูลค่าสูงสู่การเป็นฟาร์มอัจฉริยะ นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาภาคตะวันออกในการพัฒนาการผลิตและการค้าผลไม้ภาคตะวันออก ให้เป็นศูนย์ผลไม้เมืองร้อนแห่งเอเชีย โดยปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่ไปกับการรักษาคุณภาพสินค้า ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การบรรจุหีบห่อ การแปรรูป และการจัดจำหน่าย