“ประวิตร” ย้ำประชาชนต้องไม่ขาดน้ำอุปโภคบริโภค หลังพบ 5 จังหวัดวิกฤตหนัก

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                            ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ประชุมนัดแรก เร่งบูรณาการความร่วมมือทุกหน่วยงาน จัดแผนช่วยเหลือประชาชนในช่วงฤดูแล้งทั่วประเทศเต็มพิกัด เคร่งครัดดูแลน้ำอุปโภคบริโภค ตามข้อสั่งรองนายกฯ “พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” ให้มีเพียงพอกับประชาชนทุกภาคส่วน พร้อมให้เดินหน้าจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมเร่งสร้างการรับรู้รณรงค์ช่วยกันประหยัดน้ำ หลังพบมี 5 จังหวัด “บุรีรัมย์-นครราชสีมา -เพชรบูรณ์- กาญจนบุรี- อุทัยธานี” ที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร

      เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2563  ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานภายใต้กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ว่า การประชุมร่วมกันระหว่างคณะทำงานกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นครั้งแรก เพื่อหารือกระบวนการทำงาน โดยคณะทำงานประกอบด้วยแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการดำเนินร่วมกัน และขณะนี้หลายหน่วยงานได้เริ่มเข้ามาปฏิบัติงานที่ กอนช. แล้ว ซึ่งคณะทำงาน แบ่งออกเป็น 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) คณะทำงานด้านอำนวยการ 2) คณะทำงานด้านประเมินสถานการณ์ 3) คณะทำงานด้านบริหารจัดการน้ำ 4) คณะทำงานด้านสร้างการรับรู้และการประชาสัมพันธ์ โดยพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทุกคณะทำงานปฏิบัติงานร่วมกันอย่างสอดคล้อง เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานของ กอนช.  ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถบรรเทาแก้ไขปัญหาภัยแล้งและให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้งได้อย่างทันท่วงที

      “เรื่องที่รองนายกรัฐมนตรีห่วงใยและมอบหมายให้เร่งดำเนินการ คือเรื่องของน้ำอุปโภคบริโภคให้มีเพียงพอสำหรับประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) 20 จังหวัด มี 5 จังหวัด ได้แก่ จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี และอุทัยธานี ที่ประสบปัญหาด้านน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตร วันนี้ทุกหน่วยงานได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน ซึ่งขณะนี้ทุกจังหวัดมีแผนงานรองรับแล้ว” ดร. สมเกียรติ กล่าว

       อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ จึงได้มอบหมายให้ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ร่วมกับ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงพื้นที่สำรวจความขาดแคลนในแต่ละตำบลที่ประสบปัญหา เพื่อการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด นอกจากนี้ ปัญหาคุณภาพน้ำที่ค่าความเค็มที่จะรุกในแม่น้ำเจ้าพระยาอีกครั้งในช่วงวันที่ 24-31 มกราคม 2563 ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำดิบในการผลิตประปา วันนี้ กนอช. ก็ได้มอบหมายให้ การประปานครหลวง และการประปาส่วนภูมิภาค มีการเพิ่มพื้นที่เฝ้าระวังมากขึ้น อีกทั้งยังได้มอบหมายให้เร่งหาแผนการ/โครงงานรองรับ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในอนาคตด้วย อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมปัจจุบันยืนยันว่า ยังคงมีน้ำอุปโภคบริโภคเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน รวมถึงขณะนี้หน่วยงานเกี่ยวข้อง กำลังอยู่ในช่วงเชื่อมโยงโครงการด้านอุปโภคบริโภคที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยเริ่มมีการสำรวจตรวจสอบในพื้นที่แล้ว รวมทั้งจะเริ่มพัฒนาและก่อสร้างต่อไปโดยเร็ว

     ในส่วนของสถานการณ์ฝน กรมอุตุนิยมวิทยาได้รายงานว่าเป็นไปตามคาดการณ์ โดยปริมาณฝนจะยังมีน้อยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงเดือน พ.ค. 63 และจะเริ่มกลับมามีฝนอีกครั้งในช่วงเดือน มิ.ย. 63 ก่อนที่จะเกิดฝนทิ้งช่วงเมื่อเข้าสู่ต้นเดือน ก.ค. 63 แต่จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในช่วงกลางเดือน ก.ค. 63 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะมีการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อเนื่องหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้งไปแล้วอีก 3 เดือน เพื่อรองรับสถานการณ์ในอนาคต ส่วนปัญหาเรื่องการเพาะปลูกเกินแผน ขณะนี้บริเวณทุ่งเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกเกินแผนกว่า 1.87 ล้านไร่ และบางส่วนใช้น้ำจากระบบชลประทาน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ต้องมีการกำหนดควบคุมอย่างเข้มงวดและจริงจัง เพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภคบริโภค โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการกำหนดมาตรการออกมาใช้ภายในสัปดาห์หน้า

      เลขาฯ สทนช. กล่าวถึงปัญหาเรื่องปริมาณน้ำในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ว่า ตามที่หลายภาคส่วนเป็นกังวลว่าจะมีน้ำรองรับไม่เพียงพอนั้น ได้วางมาตรการพร้อมหารือร่วมกับทางจังหวัดระยองและคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อดึงน้ำส่วนหนึ่งจากแหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมซึ่งดำเนินการก่อสร้างโดยกรมชลประทาน ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเจรจาร่วมกันระหว่างจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีน้ำเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้ นอกจากนี้ เรื่องของปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำ ขณะนี้สามารถควบคุมสถานการณ์ในกรุงเทพมหานครได้แล้ว ส่วนที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นอีกพื้นที่ที่ประสบปัญหา ได้มีการวางมาตรการเติมน้ำเพื่อเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด

      พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน หาแนวทางผันน้ำจากแม่น้ำแม่กลองมาทางแม่น้ำเจ้าพระยาให้มากขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของคลองประปา ได้มอบหมาย การประปานครหลวง ให้เพิ่มปริมาณการผันน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำจากตอนบน โดยในวันที่ 31 มกราคมนี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีกำหนดลงพื้นที่ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามสถานการณ์การแก้ไขปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำด้วย อย่างไรก็ตามในช่วงฤดูแล้งต่อจากนี้ ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้ใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและมีประโยชน์สูงสุด เพื่อเราจะได้มีน้ำใช้ในทุกกิจกรรมตลอดแล้งนี้