กรมชลฯยืนยันโครงการผันน้ำยวมไปเขื่อนภูมิพลโปร่งใส เกิดประโยชน์จริง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                         เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์

กรมชลประทาน การันตีโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล จะผันน้ำเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนถึงมกราคม ที่เป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้ในพื้นที่เท่านั้น เฉลี่ยปีละราว1,795 ล้าน ลบ.ม.ส่งผ่านอุโมงค์ลอดใต้ดิน ไม่กระทบพื้นที่ป่า  สัตว์ป่า พื้นที่อาศัย และที่ทำกินของประชาชนแต่อย่างใด ส่วนค่าเวนคืนสำรวจแล้วมี 14 แปลง ยืนยันการดำเนินงานทุกโครงการฯ ยึดหลักปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงด้านน้ำ

      นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงชี้แจงกรณีที่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชน ที่อ้างว่าชาวบ้านรุมค้าน และจวกกรมชลประทาน หมกเม็ดข้อมูลโครงการผันน้ำยวมลงเขื่อนภูมิพล กังวลน้ำจะท่วมพื้นที่ว่า โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก นั้น เป็นการผันน้ำจากแม่น้ำยวม ซึ่งเป็นแม่น้ำภายในประเทศ ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย 2,858 ล้านลูกบาศก์เมตร(ล้าน ลบ.ม.)ต่อปี โดยกำหนดให้ผันน้ำเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายนถึงมกราคมเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำในแม่น้ำยวมมีปริมาณมากเกินกว่าความต้องการใช้น้ำในพื้นที่ โดยน้ำที่ผันจะอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยประมาณ 1,795 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี เพื่อนำมาใช้ในพื้นที่ที่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจะทำการผันน้ำไม่เกินระดับการเก็บกักของเขื่อนภูมิพลที่ 260 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล (ม.รทก.)

      ดังนั้น จึงไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรือนและที่ทำกินที่อยู่สูงกว่า+260 ม.รทก.ตามข้อกังวลของชาวบ้านแต่อย่างใด ส่วนด้านพื้นที่บริเวณทางออกอุโมงค์ นั้น กรมชลประทานได้มีแผนพัฒนาแหล่งน้ำ โดยการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ-แม่ป่าไผ่ เพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำให้กับพื้นที่ที่อยู่ด้านท้ายอุโมงค์ ให้ได้รับประโยชน์จากโครงการฯ ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ ก่อนการดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก นั้น กรมชลประทาน ได้จัดการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ด้วยการจัดทำวีดีทัศน์และแบบสอบถามทั้งภาษากระเหรี่ยงและภาษาไทย นอกจากนี้ ยังมีล่ามช่วยแปลภาษาระหว่างการประชุมทุกครั้ง และภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นในแต่ละครั้ง จะทำการสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและส่งกลับไปยังผู้นำชุมชนที่เข้าร่วมประชุมฯ เพื่อนำไปชี้แจงต่อประชาชนในพื้นที่ของตนเอง

       ส่วนด้านการชดเชยทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโครงการฯ จากการลงสำรวจพื้นที่ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้นำชุมชน พบว่ามีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและต้องชดเชยทรัพย์สินรวม 24 แปลง คือ บริเวณเขื่อนน้ำยวม 1 แปลง บริเวณอ่างเก็บน้ำยวม 13 แปลง บริเวณสถานีสูบน้ำบ้านสบเงา 4 แปลง บริเวณพื้นที่จัดเก็บวัสดุจากการขุดเจาะอุโมงค์จุดที่1 จำนวน 5 แปลง และพื้นที่ถนนชั่วคราว บริเวณอุโมงค์เข้า-ออก หมายเลข 5 อีก 1 แปลง ซึ่งกรมชลประทานจะทำการชดเชยทรัพย์สินให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบที่อยู่ในพื้นที่ที่ทำการสำรวจ ตามข้อกำหนดอย่างเป็นธรรมที่สุด

        สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ป่าไม้ นั้น ขอชี้แจงว่า การก่อสร้างอุโมงค์เพื่อผันน้ำ เป็นการก่อสร้างใต้ผิวดิน โดยแนวอุโมงค์อัดน้ำมีความยาวทั้งหมดประมาณ 1.82 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ที่เตรียมประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติแม่เงา แนวอุโมงค์ส่งน้ำความยาว 61.52 กิโลเมตร ลอดใต้พื้นที่ป่าอนุรักษ์ โซน C ของป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง ได้แก่ ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและแม่ตื่น ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าสงวนแห่งชาติแม่ยวมฝั่งขวา และป่าสงวนแห่งชาติ-อมก๋อย รวมทั้งอุโมงค์เข้า-ออก(Adit) ทั้งหมด 5 แห่ง ลอดใต้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ และพื้นที่ชั้นคุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1, 2 และ3 นั้น

         “ขอยืนยันว่าการก่อสร้างอุโมงค์ทั้งหมดจะไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่า สัตว์ป่า พื้นที่อาศัย และพื้นที่ทำกินของประชาชนแต่อย่างใด หากเมื่อทำการขุดเจาะอุโมงค์แล้วเสร็จจะทำการรื้อถอนโครงสร้างอาคารต่างๆ ที่ใช้ในการเก็บวัตถุระเบิด โรงหล่อและผสมคอนกรีต รวมทั้งสำนักงานและบ้านพัก ชั่วคราวในช่วงการก่อสร้างโครงการฯออกทั้งหมด เพื่อคืนสภาพป่าให้กลับสู่ดังเดิม อีกทั้งจะทำการปลูกป่า 2 เท่า ของพื้นที่ป่าที่สูญเสียไป นอกจากนี้ ยังจัดตั้งสถานีเพาะพันธุ์ปลาให้เหมาะสมกับประเภทปลา และสภาพพื้นที่ของแม่น้ำยวม รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณให้แก่กรมประมง หรือสถาบันการศึกษาในการวิจัยเพาะพันธุ์ปลา เพื่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ” นายเฉลิมเกียรติ  กล่าว

        ในส่วนข้อกังวลเรื่องการเจือสารพิษจากกองหินที่เป็นแหล่งต้นน้ำ นั้น เบื้องต้นจากการสุ่มตรวจแหล่งน้ำผิวดินจำนวน 11 สถานี บริเวณพื้นที่โครงการฯ ไม่พบการปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อประชาชนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรมชลประทาน ได้กำหนดแผนติดตามการตรวจสอบการปนเปื้อนของแร่โลหะหนักในดิน บริเวณพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ พื้นที่กองเก็บวัสดุ รวมถึงชั้นหิน จำนวน 18 จุดสำรวจ และเก็บตัวอย่างปีละ 1 ครั้ง ไปตรวจโดยเริ่มตั้งแต่ระยะการดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ ไปจนถึงระยะการใช้งาน รวม 17 ปี  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน

      กรมชลประทาน ขอยืนยันว่าการดำเนินงานทุกโครงการฯ ได้ยึดหลักปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยยึดถือประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก เพื่อเพิ่มศักยภาพและความมั่นคงด้านน้ำ ให้กับทุกพื้นที่ในประเทศ ได้มีน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และภาคกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน