“ลักษณ์”ตรวจเข้มประมงผิดกฏหมาย ย้ำให้นานาชาติพิสูจน์ได้

  •  
  •  
  •  
  •  

 

“ลักษณ์” ลงพื้นที่ตรวจเข้มการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ย้ำผู้ประกอบการต้องตระหนักถึงห่วงโซ่การผลิตสินค้าประมงให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดเส้นทาง เพื่อรสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศว่า ประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

            นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และการดำเนินการควบคุมการทำประมงของเรือประมงไทย ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง ชลบุรี (PIPO) และการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศทางตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำ ท่าเรือแหลมฉบัง ว่า การลงพื้นที่.ในครั้งนี้ เพื่อติดตามการทำงานในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้เห็นความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานกระบวนการต่าง ๆ ของการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิกฎหมายของประเทศไทย ที่มีความชัดเจนและเข้มข้นตามมาตรฐานการปฏิบัติงานที่กรมประมงได้วางแผนในการบริหารจัดการประมงไว้ให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากรและปราศจากการทำประมงที่ผิดกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับเอ็นจีโอได้เห็นการทำงานในพื้นที่จริงว่าประเทศไทยมีความเข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย

           นายลักษณ์ กล่าวต่อไปว่า ได้ติดตามการดำเนินการควบคุมการทำประมงของเรือประมงไทย ของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า – ออกเรือประมง (Port In – Port Out : PIPO Control Center) ทั้งในด้านการตรวจเข้าออกเรือประมง ซึ่งในการดำเนินงานขั้นตอนต่าง ๆ เจ้าหน้าที่จากสหวิชาชีพที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ PIPO ตลอด 24 ชั่วโมง ได้แก่ กรมประมง กรมเจ้าท่า ศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล : ศรชล. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  กรมจัดหางาน  กรมการปกครอง และกองบังคับการตำรวจน้ำ ได้พิจารณาอนุญาตให้เรือออกไปทำการประมงและกลับเข้าเทียบท่าหลังจากการทำประมงตามกฎหมายกำหนด ซึ่งจะมีการตรวจเอกสาร ตรวจลูกเรือประมง ตรวจเรือประมงที่จะต้องติด VMS รวมทั้งการตรวจสอบเรือประมงในประเด็นความปลอดภัย สุขอนามัย สวัสดิภาพของคนประจำเรือทั้งขาไปและกลับทุกครั้ง

         นอกจากนี้ยังได้ดูกระบวนการตรวจสอบและอนุญาตให้นำสัตว์น้ำขึ้นท่า การตรวจสอบชนิดและน้ำหนักสัตว์น้ำขึ้นท่า การตรวจประเมิน (Audit) ท่าเทียบเรือ การปฏิบัติงานของท่าเทียบเรือ ซึ่งสัตว์น้ำที่จับโดยเรือประมงไทย ได้มีการจัดวางระบบการตรวจสอบย้อนกลับเพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ประมงทะเลได้ตลอดสายการผลิต (Supply Chain) ตั้งแต่สัตว์น้ำที่จับได้ต้องมีการจดบันทึกการทำประมง (logbook) ตามความเป็นจริงทุกครั้ง และมีรายละเอียดของชนิดสัตว์น้ำ ปริมาณสัตว์น้ำ บริเวณที่จับ เครื่องมือทำการประมง

         ดังนั้นเมื่อนำสัตว์น้ำขึ้นที่ท่าเทียบเรือ จะต้องมีการคัดแยกและชั่งน้ำหนักสัตว์น้ำรายชนิด จนเมื่อมีการซื้อขายสัตว์น้ำจะต้องมีการกรอกข้อมูลชนิดและปริมาณสัตว์น้ำที่ซื้อขายในเอกสารกำกับการซื้อขายสัตว์น้ำ (Marine Catch Purchasing Document : MCPD) เพื่อให้มีข้อมูลในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาของสัตว์น้ำในทุกขั้นตอนตลอดสายการผลิต

[adrotate banner=”3″]

         พร้อมกันนั้น ยังได้ดูกระบวนการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศ ณ ด่านตรวจสัตว์น้ำจังหวัดชลบุรี ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งได้เห็นกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบสินค้าทางตู้คอนเทนเนอร์ และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตนำเข้าสินค้าต่างประเทศ โดยในส่วนของสัตว์น้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ประกอบการนำเข้าต้องขออนุญาตนำเข้าสัตว์น้ำ ซึ่งด่านตรวจสัตว์น้ำของกรมประมงจะตรวจสอบเอกสารและสัตว์น้ำ อาทิ Catch Certificate, Certificate of Origin, Customs Clearance, หากข้อมูลถูกต้องจะอนุญาตให้นำเข้าสัตว์น้ำ หรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำได้

         จากนั้นยังได้ดูการตรวจสอบควบคุมสินค้าประมงที่นำเข้าทางตู้คอนเทนเนอร์โดยตรวจสอบด้วยเครื่องเอ็กซเรย์ และออกหนังสือกำกับการจำหน่ายสัตว์น้ำนำเข้า (Import movement document; IMD) ให้กับผู้นำเข้าสัตว์น้ำด้วย

            “กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง มีการดำเนินการอย่างเข้มงวดทั้งในเรื่องของการควบคุมการทำประมงของเรือประมงไทยและการตรวจสอบสินค้าประมงนำเข้าจากต่างประเทศทางตู้คอนเทนเนอร์ และประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้กับผู้ประกอบการประมงตลอดสายการผลิตให้ความร่วมมือในการทำประมงอย่างถูกกฎหมาย พร้อมกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยในทุกกระบวนการสินค้าประมงสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดเส้นทางซึ่งเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศว่าประเทศไทยมีความพยายามที่จะแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และมีความมุ่งมั่นที่จะบริหารจัดการทรัพยากรประมงให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรประมงมีเพียงพอ และมีความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับรุ่นลูกรุ่นหลานต่อไปในอนาคต” นายลักษณ์ กล่าว