ดลมนัส กาเจ
ยื่นหนังสืออุทธรณ์ให้ทบทวนพิจารณางบฯกองทุน ววน.
เรากำลังเดินหน้าขับเคลื่อน เพื่อเข้าสู่ยุค “ไทยแลนด์ 4.0” (Thailand 4.0 ) เกษตรไทยสู่ “เกษตร 4.0“ ตามวิสัยทัศน์เชิงนโยบาย ที่เปลี่ยนเศรษฐกิจแบบเดิมไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยี
นั่นก็แปลว่า ความหมายหลักๆของการขับเคลื่อนตามยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อสู่การพัฒนาประเทศสู่ยุค“ไทยแลนด์ 4.0” และภาคการเกษตรของไทยอันเป็นอาชีพหลักที่ควบคู่กับคนไทยมายาวนานหลายชั่วอายุคน จะเข้าสู่ “เกษตร 4.0“ นั้นจะต้องนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เป็นหลัก ให้ทุกวงการเข้าถึงเทคโนโลยี อันจะไปสู่การอยู่ดีกินดีของคนไทย ตามวิศัยทัศน์ที่ว่า “ทำน้อย ได้มาก” เปลี่ยนจากทำมาก ได้น้อย”ในวันนี้นี้
พูดกันง่ายๆคือภาคอุตสาหกรรม ภาคการเกษตรต้องเข้าถึงเทคโนโลยีให้มากที่สุด แต่พอมาดู ผลการแปรญัติของคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 ที่ผ่าน มีมติปรับลดงบประมาณ ในส่วนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือที่เรียกว่ากองทุน ววน. ซึ่งเป็นเป็นหน่วยงานหลักในด้านการวิจัยของประเทศ จากเดิมกองทุน ววน. เคยได้มา 12,554 ล้านบาท ปรับลดจำนวน 8,000 ล้านบาท หรือเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 63.7 ของงบประมาณกองทุนฯเสียทีเดียว
แล้วประเทศไทยจะเข้าถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีชั้นสูงได้อย่างไร? เมื่อไม่มีงบประมาร หรือมีน้อยที่จะใช้สำหรับงานวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศต่อไป
คณะอนุกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ชุดนี้คงจะมีเหตุผลบางอย่าง แต่ถ้ามาเจียรนัยวิเคราะห์ดู ถ้างานวิจัยสะดุด สิ่งที่จะตามมาคือ จะกระทบเป็นลูกโซ่ ต่อการพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันจะนำไปสู่การขาดความเชื่อมั่นของประเทศในด้านการลงทุน ในภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และจะลามถึงเศรษฐกิจฐานราก ทั้งวิสาหกิจชุมชน SMEs และภาคการเกษตรที่ต้องอาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ รวมไปถึงจะกระทบในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ต้องใช้งบประมาณด้านการวิจัย เพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาประเทศในอนาคตด้วย
นี่ก็เป็นเหตุส่วนหนึ่ง ที่ ศ.นพ. สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมด้วย ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศทางวิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) เข้ายื่นหนังสืออุทธรณ์ ต่อ นายสันติ กีระนันทน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สภาผู้แทนราษฎร และ พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ เพื่อพิจารณาทบทวนการพิจารณางบประมาณของคณะอนุกรรมาธิการฯ ที่มีการตัดงบกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.)ดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา คือพูดง่ายๆคือยื่นอุทรณ์ให้มีการทบทวนใหม่
ทั้งนี้เนื่องจากมองว่า การปรับลดงบประมาณจำนวนดังกล่าว ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ตามเป้าหมายที่ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. ได้ตั้งไว้ จึงขอยื่นอุทธรณ์ต่อประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ เพื่อทบทวนมติที่คณะอนุกรรมาธิการฯ ปรับลดงบประมาณดังกล่าว