แฟ้มภาพ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งสัญญาณเตือนภาครัฐและเกษตรกรป้องกันโรค ASF อย่างเข้มแข็ง หวั่นเกิดโรคระบาดซ้ำ หลังผลผลิตในจีนขาดแคลนหนัก ทำให้ราคาหมูจีนพุ่งสูง ขณะที่ราคาหมูไทยตามกระแสที่ผลผลิตในภูมิภาคลดน้อยลง ดันราคาสูงขึ้นต่อเนื่องคาดถึงปี 2566
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียง กล่าวว่า สถานการณ์ราคาสุกรในประเทศปัจจุบันอยู่ในระดับที่เหมาะสมทั้งผู้เลี้ยงและผู้บริโภครับได้ โดยสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มยืนราคา 100 บาทต่อกิโลกรัม ต่อเนื่องมามากกว่าครึ่งปี ขณะที่ราคาขายปลีกเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่ 200 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งคาดว่าราคาจากนี้ไปจะยังทรงตัวสูง เนื่องจากผลผลิตยังออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับหลังเทศกาลกินเจและเข้าสู่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ก่อนเข้าสู่เทศกาลเฉลิมฉลองปลายปี ทำให้ความต้องการบริโภคอาหารสูง ราคาจึงปรับขึ้นตามกลไกตลาด
ขณะเดียวกันเกษตรกรยังต้องแบกภาระต้นทุนและปัจจัยการผลิตสูงขึ้นทั้งจากวัตถุดิบอาหารสัตว์ พลังงาน ยารักษาโรคและปุ๋ย และการปรับปรุงฟาร์มให้ได้มาตรฐานเพื่อป้องกันโรค อาจทำให้เกษตรกรไม่กล้าเสี่ยงนำหมูเข้าเลี้ยงใหม่ ทำให้ผลผลิตในประเทศไม่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ราคาหน้าฟาร์มปรับขึ้นบ้างช่วงตามอุปสงค์-อุปทาน
ล่าสุดสำนักข่าว นิกเคอิ ของญี่ปุ่น รายงานสถานการณ์ราคาสุกรในประเทศจีน ว่า จากสารพัดปัจจัยทั้งโรคระบาดในคน โรคระบาดในหมู และต้นทุนอาหารสัตว์ที่ดีดตัวอย่างแรง ส่งผลให้ราคาหมูสดของจีนพุ่งสูงขึ้นถึง 94.7% เทียบกันปีต่อปี ราคาหมูมีชีวิตท้องถิ่นอยู่ที่ 23.15 หยวน ต่อกิโลกรัม หรือ 122 บาทต่อกิโลกรัม และเป็นราคาที่ไม่มีเสถียรภาพ
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการผลิตในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพิ่มขึ้น 22.5% เทียบกับช่วงเดียวกันปี 2564 ซึ่งรัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ เกิดผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภค จนรัฐบาลต้องระบายสต๊อกหมูแช่แข็งสำรองในคลังห้องเย็นของรัฐบาลออกมาเพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของชาวจีน
ส่วนราคาเนื้อสุกรของไทยขณะนี้ ไม่ถือว่าแพง เป็นราคาที่ปรับขึ้นสอดคล้องกับราคาในประเทศจีนที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มเฉลี่ยอยู่ที่ 122 บาทต่อกิโลกรัม หลังผลผลิตในประเทศขาดแคลนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ขณะที่เวียดนามอยู่ที่มากกว่า 90 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งราคาทรงตัวใกล้เคียงกับไทย และมีแนวโน้มที่ราคาจะปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตที่ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องอีกถึงปี 2566
ทั้งนี้ต้องติดตามสถานการณ์ดูปริมาณผลผลิตหมูในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้าด้วย จะสามารถผลิตได้ตามเป้าหมายและสามารถขยายตลาดส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อหมูแปรรูปไปจีนหรือเวียดนามได้อย่างไร ก็จะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ราคาหมูไทยทรงตัวในระดับสูงได้ต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันต้นทุนเฉลี่ยของไทยสูงเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัมเมื่อบวกค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่นทำให้ราคาขายปลีกหมูเนื้อแดงเฉลี่ยอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ถือว่าเป็นไปตามกลไกตลาด.