ผู้เลี้ยงสุกรทั่วไทยประสานเสียง ยันตรึงราคาหมูไม่เกิน กก.ละ 100  บาท พนุนเปิดประเทศ 1 พ.ย.65นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

ผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ประสานเสียงสนองนโยบายรัฐ จับมือรักษาระดับราคาหมูไม่เกิน กก.ละ 100  บาท รับมือหนุนเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม 2565 นี้ แม้เกษตรกรบางส่วนแบกต้นทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือเลิกเลี้ยงไปแล้วกว่า 80 % แต่ยืนยันไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด ย้ำขอรัฐบาลอย่านำเข้าหมูจากต่างประเทศ หวั่นบั่นทอนอาชีพเกษตรกรเพิ่มมากขึ้นกว่าเป็นอยู่

      นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศพร้อมใจกันสนองนโยบายรัฐบาล โดยรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มอยู่ไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วงที่ทุกฝ่ายพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว หลังเริ่มนโยบายเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม 2565 นี้

                                                          สิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ 

        “ผู้เลี้ยงสุกรทั่วประเทศยินดีร่วมมือกับรัฐบาลในการรักษาระดับราคาสุกรเพื่อผู้บริโภค แม้ยังคงต้องรับภาระต้นทุนมาตรการด้านสุขภาพสัตว์ และต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงอย่างต่อเนื่อง และยังคงรอความชัดเจนกับแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็ตาม ด้วยขณะนี้กำลังเข้าสู่การเปิดประเทศ และต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการร่วมฟื้นฟูเศรษฐกิจ จึงรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไว้ไม่เกิน 100 บาท/กก.” นายสิทธิพันธ์กล่าว

      ทั้งนี้ รายงานข้อมูลสภาวะตลาดสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์ม (สัปดาห์ที่ 17/2565) วันพระที่ 30 เมษายน 2565 จากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ มีราคาดังนี้ ภาคตะวันตก 98-100 ภาคตะวันออก 98-100 ภาคอีสาน 98-100 ภาคเหนือ 100 ภาคใต้ 98

     อย่างไรก็ตาม ทางสมาคมฯ ขอย้ำรัฐว่า อย่านำเข้าเนื้อสุกร รวมทั้งเร่งสกัดกั้นและกวาดล้างขบวนการ “ลักลอบนำเข้าหมู” ที่นำเนื้อสุกรและชิ้นส่วนผิดกฎหมายจากเยอรมนี บราซิล แคนาดา อิตาลี เกาหลี เบลเยียม และสหรัฐอเมริกาเข้ามาสำแดงเท็จว่าเป็นสินค้าอื่น เช่น เป็นวัตถุดิบผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง และอาหารทะเล จนทำให้พบสินค้าเหล่านั้นกระจายขายอยู่ในประเทศโดยเฉพาะย่านราชบุรี-นครปฐม เป็นต้น

        ด้านนายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์สุกรในขณะนี้ว่า จากผลกระทบของภาวะโรค ASF เมื่อช่วงปลายปี 2564 ปรากฏผลชัดเจนในวันนี้ ตามรอบการผลิตหมู เป็นผลจากการที่เกษตรกรต้องเลิกเลี้ยงสุกรไปเป็นจำนวนมาก โดยเกษตรกรในภาคเหนือมากกว่า 80% จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยง คงเหลือเพียง 20% ที่ยังสามารถเลี้ยงสุกรได้ต่อไป ส่งผลให้ปริมาณสุกรหายไปจากระบบและไม่เพียงพอต่อการบริโภค ทำให้พื้นที่ภาคเหนือต้องพึ่งพาชิ้นส่วนสุกร และสุกรขุนจากภูมิภาคอื่นๆ ส่งผลให้ราคาเนื้อหมูในภาคเหนือสูงกว่าพื้นที่อื่นเล็กน้อย

                                                    สุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์

     อย่างไรก็ตาม เกษตรกร  ผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคเห็นพ้องกัน ในการร่วมสนองนโยบายรัฐบาล ด้วยการ “รักษาระดับราคาหน้าฟาร์มไม่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม”ในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว โดยจะเริ่มนโยบายเปิดประเทศ 1 พฤษภาคม 2565 สำหรับการปรับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด จากปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค โดยไม่มีการขึ้นราคาตามอำเภอใจ แต่เพียงเพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และให้เกษตรกรอยู่ได้บ้างเพราะต้นทุนสูงการผลิตสูงขึ้นกว่า 30-40% ที่สำคัญปริมาณสุกรในขณะนี้มีไม่มากและอยู่ในมือเกษตรกรทั้งสิ้น

       “ปัจจุบันทั้งแม่พันธุ์หมู ลูกหมูหย่านม และหมูขุน หายไปจากระบบมากกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงและหยุดการเลี้ยงไปมากกว่าครึ่งของประเทศ จากเกษตรกร 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นราย เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ประกอบกับที่ต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพราะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาธัญพืชที่นำมาผลิตอาหาร อย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เวลานี้ราคาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละเกือบ 13 บาท แต่ทุกวันนี้ต่างพร้อมใจกันร่วมประคับประคองอาชีพเลี้ยงหมูไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด” นายสุนทราภรณ์ กล่าว

       นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันทุกคนที่เลี้ยงหมูต่างพบอุปสรรคด้านการประกอบอาชีพ เพราะสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ยืม เนื่องจากขาดหลักประกันว่าจะมีรายได้มาผ่อนชำระได้ตามที่กำหนด ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกษตรกรขอเรียกร้องไปยังภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ โดยเร็วที่สุด

        อย่างไรก็ตาม เกษตรกรทุกคนต่างไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมู เนื่องจากเป็นการซ้ำเติมปัญหา และบิดเบือนกลไกตลาด และยังลดแรงจูงใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าระบบ กลายเป็นอุปสรรคในการเพิ่มซัพพลายหมูดังที่ภาครัฐกำลังเร่งดำเนินการอยู่อีกด้วย