เปิดเสินทางชีวิตกูรูนาข้าวแห่งทุ่งกุลาฯ“บุญมี สุระโคตร” ยึด 3 แนวคิดสู่ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ส่งออก

  •  
  •  
  •  
  •  

ย้อนกลับดูมุมมองของลูกเกษตรกรที่เห็นครอบครัวลำบาก เมื่อครั้งที่ยังเยาว์วัยของ “บุญมี สุระโคตร” หรือ “ลุงบุญมี” ประธาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ทำให้เดินหนีจากอาชีพเกษตรกรไปขายแรงงานในสังคมเมือง เพียงเพราะความคิดที่ว่า “รายได้ชาวไร่ชาวนาคงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต” แต่สุดท้ายแล้วก็พบว่า หนทางเดียวที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืนได้นั้น คือ “เกษตรกรรม” แต่ต้องเปลี่ยนแนวคิดเดิม หาธีคิดใหม่ๆด้วยการ น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ หันมา“ทำนาแบบเกษตรอินทรีย์” ลดการใช้ปุ๋ยและสารเคมีลง ยึดหลักในการดำรงอาชีพ 3 แนวทาง”ทุกก้าวย่างที่ก้าวเดิน คือ ตำราเรียน -หลักการบริหาร คือ ผู้นำ ต้องเสียสละ-เปลี่ยนการขายของหนักราคาถูก สู่ของเบาราคาสูง” ทำให้วันนี้ “บุญมี” กลายเป็นนักธุรกิจเกษตร ผลิตข้าวอินทรียในผืนนาของตัวเอง สร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ

      “ลุงบุญมี” เกิดมาในครัวเกษตรกรกลางทุ่งกุลาห้องไห้ ชีวิตผ่านหนาวบนหลายเส้นทางอาชีพไม่ว่าจะเป็น ช่างเฟอร์นิเจอร์ ช่างตัดผม และช่างเดินสายไฟ โดยละทิ้งอาชีพชาวนาซึ่งเป็นอาชีพที่ครอบครัวสืบทอดให้ตั้งแต่จำความได้   สุดท้ายพบว่า สิ่งที่อยากทำที่สุด คือ “ทำนา ปลูกข้าว” ในวิถีเกษตรอินทรีย์ จนกระทั่งพลิกผันชีวิตให้ประสบความสำเร็จ ในอาชีพเกษตรกรรมอย่างทุกวันนี้ และกลายเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปราชญ์ชาวบ้านด้านการอนุรักษ์ภูมิปัญญา การทำนาข้าวอินทรีย์ หลังจากได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในผืนนาของตัวเอง ผลิตข้าวหอมมะลิอินทรีย์ คุณภาพดี ที่มีต้นทุนต่ำ สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาในพื้นที่ใกล้เคียงหันมาปลูกข้าวอินทรีย์ จนในวันนี้ได้กลายเป็นประธาน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสง ตำบลดู่ อำเภอราษีไศล  แหล่งเกษตรอินทรีย์อันดับต้น ๆ ของประเทศ

        เรื่องราวที่น่าสนใจของลุงบุญมี ชาวนาผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ส่งออก ได้ถูกนำมาถ่ายทอดผ่านหลักสูตรเกษตรอินทรีย์  เพื่อการส่งออก ภายใต้ระบบการเรียนรู้ในรูปแบบ E-Learning ที่เรียกว่า “The Guru ปันความรู้สู่ภูมิภาค” ของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA) กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หน่วยงานที่จัดโครงการอบรมและสัมมนาเพื่อสร้างความเข้าใจและองค์ความรู้ให้ผู้ประกอบการไทย เพื่อร่วมแบ่งปันแรงบันดาลใจในการสร้างดีเอ็นเอของผู้ประกอบการ และเกษตรกรยุคใหม่ที่ต้องไม่หยุดเรียนรู้และพัฒนา พร้อมด้วยประสบการณ์การพลิกทุ่งนาให้กลายเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มรูปแบบไปพร้อม ๆ กัน โดยบางส่วนบางตอนจากหลักสูตรลุงบุญมีได้ให้ข้อคิด 3 ข้อที่น่าสนใจคือ

    1.ทุกก้าวย่างที่ก้าวเดิน คือ ตำราเรียน เพียงแค่อยากรู้อะไร ต้องก้าวเข้าไปเรียนรู้ตลอดเวลา เพื่อแก้ปัญหาชีวิตเกษตรกรให้ไม่ต้องลำบาก สามารถใช้ชีวิตได้อย่างไม่เดือดร้อน สุดท้ายเมื่อเรียนรู้แล้วต้องนำมาปฏิบัติ เพื่อให้อาชีพเกษตรกร มีเกียรติมีศักดิ์ศรี และต้องเชื่อมั่นว่า อาชีพของเราสามารถสร้างรายได้ และจงภูมิใจที่เราเป็นประเทศเกษตรกรรมที่เป็นแหล่งสร้างอาหารที่ดี ลุงบุญมี จึงน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในผืนนาของตัวเองโดยส่งเสริมให้สมาชิก  ทำเกษตรอินทรีย์ รักษาสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ ให้ความสำคัญต่อสุขภาพทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค อีกทั้งเป็นการลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากต้นทุนการผลิตที่มาจากปุ๋ยเคมีราคาแพง และมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกร และผู้บริโภค

     2.หลักการบริหาร คือ ผู้นำ ต้องเสียสละ ต้องมองภาพใหญ่เป็นตัวตั้ง ห้ามคิดเล็กคิดน้อยเรื่องรายได้ ถ้ามีรายได้ ทุกคนต้องได้เท่าเทียมกัน

      ลุงบุญมี เล่าว่า จากคนกลุ่มเล็ก ๆ เพียงแค่ 47คน ที่มีความคิดมีอุดมการณ์อยากทำนาเกษตรอินทรีย์เหมือนกันมารวมตัวกันจนกลายเป็นกลุ่มมีความเข้มแข็งจึงเติบโตมาอย่างต่อเนื่องมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ข้าวเกษตรอินทรีย์ครบวงจร ปัจจุบันมีสมาชิก จำนวน 1,258 ครัวเรือน พื้นที่ปลูกข้าวอินทรีย์     20,716 ไร่ บนพื้นที่ของทุ่งกุลาร้องไห้

        จากรายงานผลประกอบการของวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวบ้านอุ่มแสงมีรายได้จากการ  ขายข้าวอินทรีย์ชนิดต่าง ๆ มีกำไรมาอย่างต่อเนื่องและเติบโตอย่างก้าวกระโดดโดยจะตัดกำไร 15% จัดสรรเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิก และกิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกและชุมชน เช่น ทุนการศึกษาของลูกหลานสมาชิก สมทบทุนเพื่อสาธารณประโยชน์ของชุมชน ฯลฯ และยังนำรายได้ที่ได้รับจากองค์กร Fair Trade ใช้จ่ายสำหรับการตรวจสอบแปลงนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน จัดทำกองทุนเมล็ดพันธุ์และปุ๋ย ผลิตน้ำดื่มชุมชน รวมทั้งเพื่อสาธารณกุศลในชุมชน กุญแจสำคัญที่ไขสู่ความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ นั่นคือ การเลือกทำเกษตรอินทรีย์และมีใบรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ทำให้สามารถขายข้าวไปยังต่างประเทศได้สะดวกขึ้นส่งผลสมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้น นั่นเอง

      3.เปลี่ยนการขายของหนักราคาถูก สู่ของเบาราคาสูงซึ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าให้ได้ประโยชน์สูงสุด แม้ข้าวอินทรีย์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวอุ่มแสงจะขายดีไม่มีปัญหาเรื่องตลาด เป็นที่ต้องการสูงในตลาดโลกจนผลิตไม่ทันกับความต้องการ แต่การขายข้าวสารยังให้มูลค่าผลตอบแทนน้อยกว่า เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว ทางกลุ่มจึงหันมาศึกษาวิจัยเรื่องการแปรรูปข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าข้าวอย่างจริงจังและพัฒนาช่องทางตลาดไปพร้อม ๆ กัน โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการเรื่องการแปรรูปข้าวจากหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ จนพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวได้หลายสิบรายการ ยกตัวอย่างเช่น ข้าวอินทรีย์แปรรูป แป้งจากจมูกข้าวกล้องงอก จมูกข้าวกล้องงอกพร้อมดื่ม ไอศกรีมข้าวกล้องงอก ขนมที่ทำจากข้าวกล้องงอก เป็นต้น

       จากข้อคิดดีๆ ที่ลุงบุญมี ได้มาเล่าถึงเบื้องหลังความสำเร็จ และถ่ายทอดประสบการณ์ในการเปลี่ยนทุ่งนาให้เป็นเกษตรอินทรีย์และสามารถส่งออกข้าว และผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกิดขึ้นมากมาย รวมถึงเปลี่ยนวิธีคิด มุมมองของเกษตรกรในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวบ้าน รวมถึงเป็นหนึ่งต้นแบบของชาวนาที่พลิกผันให้ทุ่งกุลากลายเป็นผืนนาเกษตรอินทรีย์ได้อย่างประสบความสำเร็จ

      ใครที่สนใจเรื่องราวของลุงบุญมีและกูรูท่านอื่น ๆ สามารถเข้าไปสมัครเรียนได้ที่ https://e-academy.ditp.go.th/theguru/ และสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของโครงการหรือกิจกรรมอื่นๆของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่(NEA)ได้  nea.ditp.go.th หรือ www.ditp.go.th หรือ www.facebook.com/nea.ditp  หรือ  สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169