นายพิทักษ์ แซ่ว่า เจ้าของล้งรับซื้อลำไยบ้านกาด อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ปีนี้ราคาลำไยเริ่มดี แต่ผลผลิตลำไยปีนี้ค่อนข้างมากและตลาดที่รับซื้อไม่ค่อยดีนัก เพราะตลาดอินโดนีเซียไม่รับซื้อลำไยสด (ตะกร้า) เลย ในขณะที่ทางจีนก็ยังไม่มีข่าวว่าจะรับซื้อลำไยสด (ร่วง) มากน้อยแค่ไหน
“วันนี้ราคารับซื้อลำไยสดร่วงของบ้านกาด อ.แม่วาง อยู่ที่เกรด AA 20 บาทต่อกก. เกรด A 14 บาทต่อกก. เกรด B 6 บาทต่อกก. และเกรด C 1 บาทต่อกก. ถือว่ายังต่ำอยู่มาก และอาจมีขึ้นลงได้ในแต่ละวันตามความต้องการของตลาด เพราะปีที่ผ่านมารับซื้อเกรด AA ที่ 25 บาทต่อกก. ซึ่งทุกพื้นที่ก็จะราคาเดียวกัน โดยที่ล้งของผมจะส่งไปยังล้งใหญ่ที่เรียกว่าแม่เลี้ยงที่บ้านธิ จ.ลำพูน เพื่อทำลำไยอบ”
นายพิทักษ์กล่าวอีกว่า ไม่ทราบเรื่องที่ภาครัฐมีการลงนามความร่วมมือ หรือเอ็มโอยู เพื่อรับซื้อลำไยจากเกษตรกรแต่อย่างใด จึงเชื่อว่าราคาลำไยสดร่วงยังมีแนวโน้มแย่ลงกว่าเดิมอีกแน่ เพราะขนาดต้นฤดูของผลผลิตปีนี้ราคายังลงมาขนาดนี้แล้ว เพราะตลาดไม่มีความแน่นอน และตลาดรับซื้ออื่นๆ ไม่มีเลย ที่ผ่านมามีเพียงเกษตรอำเภอมาสอบถามราคาหน้าล้งเท่านั้นว่าแต่ละวันราคาผลผลิตเท่าไร
โดยนางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ผลการประชุมหารือมาตรการรองรับผลผลิตลำไย ปี 2561 มีมาตรการให้เร่งหาตลาดส่งออกรองรับใหม่ (ตลาดรอง) เพื่อลดการผูกขาดจากตลาดส่งออกเดิม เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ดูไบ ตลาดที่มีคนเอเชียอยู่จำนวนมาก โดยใช้กลไกผ่านกิจกรรม Incoming ที่กำหนดจัดขึ้นในสัปดาห์ถัดไปที่ จ.เชียงใหม่ (โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่) การขยายช่องทางผ่านการขายออนไลน์ของบริษัท Tmall / alibaba ตามด้วยมาตรการส่งเสริมให้ผู้รวบรวม เช่น ให้ค่าบริหารจัดการคุณภาพ ในลักษณะเป็นค่าเหมาจ่าย สำหรับการกระจายผลผลิตภายในประเทศ (ออกนอกแหล่งผลิต)โดยประสานความร่วมมือกับภาครัฐ เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ภาคเอกชน โดยตั้งเป้าหมาย 5,000 ตัน ทั่วประเทศ ผ่านหลายช่องทาง อาทิ ศูนย์ MOI ของแต่ละจังหวัด ตลาดประชารัฐ Modern Trade เช่น เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ท๊อปซุปเปอร์ฯ สยามแมคโคร รวมทั้งสถานีบริการน้ำมันบางจาก และปตท. ฯลฯ เพื่อให้ผลผลิตลำไยถึงผู้บริโภคอย่างทั่วถึง
ตลอดจนส่งเสริมการแปรรูปลำไย เพื่อเพิ่มมูลค่าลำไย โดยนำนวัตกรรมมาต่อยอด เช่น ลำไยอบแห้งสีทอง/ทั้งเปลือก ลำไยกระป๋อง และผลิตภัณฑ์ลำไยแปรรูปในรูปแบบต่างๆ โดยให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยหาตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ การรณรงค์การบริโภคลำไยภายในประเทศให้มากที่สุด โดยขอความร่วมมือโรงแรม และร้านอาหาร จัดเมนูอาหารหวาน อาหารคาวที่มีส่วนผสมลำไย สร้างการรับรู้ในเรื่องคุณค่าและสรรพคุณของลำไย และเสนอให้ ธกส. พิจารณาให้สินเชื่อดอกเบี้ยอัตราพิเศษแก่เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อสร้างเงินทุนหมุนเวียนในการกระจายและการแปรรูป ให้กับเกษตรกรโดยตรง
ทั้งนี้ในภาคเอกชนเสนอและสะท้อนปัญหาเรื่องลำไย ที่ส่งผลต่อราคาและตลาดลำไย ว่ามีปัญหาการขาดแคลนแรงงานจัดเก็บและตัดแต่ง โดยขอให้มีการผ่อนปรนการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเก็บลำไยข้ามจังหวัดให้สามารถทำได้ในช่วงเวลาที่ลำไยออกสู่ตลาดมากๆ ขอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดให้บริการตรวจ SPS ในวันเสาร์-อาทิตย์ เพื่อป้องกันลำไยเน่าเสียค้างที่ชายแดน หรือท่าเรือ เร่งเจรจากับเวียดนามให้มีความสะดวกในการตรวจปล่อยสินค้า หลังจากมีปัญหาอุปสรรคการตรวจปล่อยสินค้าล่าช้าบนเส้นทาง R8 และ R12 กับเวียดนาม และมีความกังวลกับตลาดอินโดนีเซียที่ใช้มาตรการ NTB กับสินค้าลำไย
หลังจากนั้นยังมีการลงนามการรับซื้อลำไยสดตามสัญญามาตรฐานของกรมการค้าภายใน สัญญาโดยบริษัทมาตา โปรดักส์ และสหกรณ์การเกษตรจอมทองปริมาณ 3,800 ตัน และบริษัทเนเชอรัลเบฟ ผู้ผลิตน้ำสกัดลำไยเข้มข้น ลงนามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายลำไยเกรดรองกับกลุ่มเกษตรกร จ.เชียงใหม่ โดยมีเป้าหมายการรับซื้อในปริมาณ 10,000 ตัน
โดยในปี 2561 คาดการณ์ว่าจะพื้นที่เพาะปลูก จำนวน 837,721 ไร่ ผลผลิตรวม 659,134 ตัน จำแนกเป็นลำไยในฤดู จำนวน 639,413 ไร่ ผลผลิตจำนวน 386,303 ตัน และลำไยนอกฤดู จำนวน 198,308 ไร่ ผลผลิต จำนวน 272,831 ตัน ผลผลิตในฤดูมีปริมาณมากกว่า ปี 2560 ร้อยละ 2.28 ซึ่งผลิตลำไยคุณภาพจะมีมากกว่า 20,000 ตัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน เนื่องจากเป็นแหล่งผลิตที่ใหญ่ที่สุดของภาคเหนือ
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ : อ่านเพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/local-economy/news-190580